หลังจากปิดเทอมใหญ่มาอย่างยาวนาน วันเปิดเทอมของลูกอาจเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่รอคอย แต่ในขณะเดียวกัน การเริ่มต้นเทอมใหม่ หรือไปโรงเรียนวันแรกก็ยังคงเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและสร้างความกังวลให้ลูกได้เสมอ
เมื่อลูกรู้สึกกลัวหรือไม่อยากไปโรงเรียน สิ่งที่ตามมาก็คือการแสดงออก เช่น ลูกงอแงในวันเปิดเทอม พยายามทำตัวอืดอาด ทำกิจวัตรอย่างเชื่องช้า ไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ ร้องไห้งอแง หรือกรีดร้องอาละวาดเลยก็มี
Reena B. Patel นักจิตวิทยาด้านการศึกษาและผู้เขียนหนังสือ Winnie & Her Worries อธิบายว่า เด็กทุกวัยมักมีอาการไม่อยากไปโรงเรียนได้ตลอดเวลาในระหว่างปีการศึกษา และจะรู้สึกมากยิ่งขึ้นหลังจากปิดเทอมใหญ่หรือหลังวันหยุดยาว
ทางด้าน Maribeth Henry นักบำบัดครอบครัวผู้จัดรายการพอดแคสต์ Everyday Parenting เสริมเรื่องนี้ว่า ลูกงอแงในวันเปิดเทอม หรือไม่ยอมไปโรงเรียนหลังปิดเทอมใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลและความกลัว เช่น ลูกวัยอนุบาล มักจะกลัวการแยกจากกับคุณพ่อคุณแม่ กังวลว่าจะทำสิ่งต่างๆ เหมือนกันเพื่อนคนอื่นไม่ได้ หรือไม่อยากไปโรงเรียนเพราะติดในความสะดวกสบายที่บ้านมากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้น วันแรกของการไปโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันพาลูกก้าวข้ามความท้าทายนั้นไปให้ได้ ด้วยวิธีที่ใช้ได้ในทุกๆ เช้าของวันไปโรงเรียนดังต่อไปนี้ค่ะ
1. กระตุ้นความคิดถึงโรงเรียนก่อนเปิดเทอม

ก่อนเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นความคิดถึงโรงเรียนให้ลูก ด้วยการพาลูกผ่านไปที่โรงเรียนบ้าง นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูกพูดคุยเรื่องที่โรงเรียนมากขึ้น เช่น เปิดเทอมใหม่ ห้องเรียนของลูกจะอยู่ชั้นไหน ลูกอยากให้คุณครูคนไหนมาเป็นครูประจำชั้น หรือเริ่มติดต่อเพื่อให้ลูกได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมห้องก่อนเปิดเทอม ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกอยากไปโรงเรียนและกลัววันเปิดเทอมใหม่น้อยลง
2. สร้างความน่าตื่นเต้นให้กับวัน (ก่อน) เปิดเทอมใหม่

คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้วันเปิดเทอมใหม่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ด้วยการชวนลูก สร้างปฏิทินนับถอยหลัง 1 สัปดาห์ก่อนวันเปิดเทอม วาดปฏิทินเดือนที่เปิดภาคเรียนขนาดใหญ่ ชวนลูกวาดรูประบายสีให้สดใส ส่วนช่อง 7 วันก่อนถึงวันเปิดเทอม เพิ่มสีให้โดดเด่น วันเปิดเทอมวันแรก ให้วาดรูปหน้ายิ้มเป็นเป้าหมาย นับถอยหลังด้วยสติ๊กเกอร์แต่ละวัน
ระหว่างนี้ จัดทำ ตารางภาพกิจวัตร ช่วงเช้าสำหรับวันไปโรงเรียน ไว้ข้างๆ กัน เช่น รูปภาพอาบน้ำ แต่งตัว แปรงฟัน กินข้าวเช้า ใส่รองเท้า สะพายกระเป๋านักเรียน ส่งยิ้มให้กับตัวเองในกระจกสักที รูปภาพนี้จะทำให้ลูกรู้ว่า ตัวเองต้องทำอะไร ต่อไปทำอะไร นอกจากคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยกำกับมากแล้ว ยังเป็นวิธีที่ส่งเสริมวินัยที่ดีให้กับลูกด้วย
เมื่อวันสุดท้ายของการปิดเทอมมาถึง คุณพ่อคุณแม่อาจจะเพิ่มความพิเศษด้วยการจัดปาร์ตี้เล็กๆ ให้กับวันสำคัญที่กำลังจะมาถึง ความพิเศษนี้จะยิ่งทำให้ลูกตื่นเต้น และอยากไปโรงเรียนในเช้าวันเปิดเทอมด้วยความสดชื่น
ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ เล่นบทบาทสมมติ เรื่องโรงเรียนของฉัน ลูกอาจเป็นคุณครู คุณพ่อคุณแม่เป็นเด็กนักเรียน ชวนกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เข้าแถว ร้องเพลงเคารพธงชาติ นั่งเป็นวงกลม ร้องเพลงออกกำลังกายตอนเช้า หรือกิจวัตรที่ลูกทำเป็นประจำที่โรงเรียน ก็นำมาเล่นด้วยกันที่บ้านอย่างสนุกสนาน
3. เตรียมใจรอรับสถานการณ์ ‘วันนี้หนูไม่สบาย’

เด็กๆ รู้ดีว่า หากบอกว่าตัวเองไม่สบาย ป่วย ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีอาการผิดปกติในร่างกาย ก็จะได้รับอนุญาตให้หยุดเรียนได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเตรียมรับสถานการณ์นั้นตั้งแต่เนิ่นๆ
แต่หากลูกวัยประถมยังงอแงไม่อยากไปโรงเรียน จนถึงขั้นทำให้ป่วยหรือไม่สบายได้คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามหาสาเหตุว่าลูกกำลังเครียด หรือวิตกกังวลบางอย่างที่โรงเรียนหรือไม่ เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ลูกได้อย่างเหมาะสม
4. สุดยอดท่าไม้ตาย ร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน
สยบได้ด้วย ‘รอยยิ้ม’

Dr. Ann-Louise T Lockhart, PsyD, ABPP นักจิตวิทยาเด็ก อธิบายว่า เมื่อคนเรากลัวบางสิ่ง เราจะหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น การหลีกเลี่ยงจะทำให้ช่วยให้คนเรารู้สึกดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นทักษะการเอาตัวรอดและเป็นกลไกการรับมือของคนเรา
โดยเฉพาะเด็กเล็ก เมื่อต้องแยกจากกับคุณพ่อคุณแม่ชั่วคราว ด้วยการไปโรงเรียนอนุบาล ลูกจะรู้สึกกลัว เมื่อกลัวก็จะหลีกเลี่ยง ไม่ยอมไปโรงเรียน ลูกกำลังเผชิญหน้ากับความวิตกผสมกับความคิดถึง กลายเป็นเสียงร้องไห้ และเริ่มเกาะคุณพ่อคุณแม่เอาไว้แน่น ให้เวลาลูกอีกสักหน่อย ย่อตัวลงไปสบตา กอดลูกแน่นๆ ส่งยิ้มกว้างๆ แล้วบอกลูกว่า คุณครูจะดูแลลูก ลูกจะได้เล่นกับเพื่อนๆ เลิกเรียนจะมารับให้เร็วที่สุด วิธีนี้ใช้ได้กับลูกตั้งแต่อนุบาล เรื่อยไปจนถึงวัยประถม
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกพกรูปครอบครัวไว้ในกระเป๋า เวลาที่ลูกรู้สึกคิดถึงจนอยากจะร้องไห้ ให้หยิบรูปในกระเป๋าขึ้นมา แล้วยิ้มให้กับตัวเองและทุกคนในครอบครัวผ่านรูปถ่าย โดยส่วนใหญ่เด็กจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถึงจะปรับตัวให้เข้ากับเปิดเทอมใหม่ได้ หลังจากนั้นลูกก็จะสนุกกับการไปโรงเรียนได้แล้วล่ะค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST