เพราะไม่มีใครชอบคนเห็นแก่ตัวและมีนิสัยชอบเอาเปรียบคนอื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อสังเกตเห็นว่า ลูกเริ่มมีพฤติกรรมและนิสัยเห็นแก่ตัว
และเมื่อคุณพ่อคุณแม่พยายามหาสาเหตุที่ทำให้ ลูกเห็นแก่ตัว และชอบเอาเปรียบคนอื่น แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ลูกไปเรียนรู้นิสัยจากใคร หรือจะมาจากการเลี้ยงดูของเราเองกันแน่…
Diana Baumrind นักจิตวิทยาเด็กเล็ก เผยว่า พฤติกรรมและรูปแบบการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ส่งผลโดยตรงต่อบุคลิกภาพของลูก
และการเลี้ยงดูแบ่งออกตามลักษณะพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เป็น 4 ประเภท ดังนี้
– Authoritative Parenting พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความเอาใจใส่
– Authoritarian Parenting พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความเข้มงวด
– Permissive Parenting พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามใจ
– Uninvolved Parenting พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย
วิธีการเลี้ยงลูกที่เป็นสาเหตุหลักของการปลูกฝังนิสัยเห็นแก่ตัวในตัวลูก ก็คือการเลี้ยงดูแบบตามใจ เพราะคุณพ่อคุณแม่มักจะให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูก ทำให้ ลูกเห็นแก่ตัว รู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอาแต่ใจ และความต้องการของตัวเองเป็นหลัก นำไปสู่การขาดความเคารพสิทธิและความต้องการของคนอื่น
นอกจากการเลี้ยงดูด้วยการตามใจลูกมากเกินไปแล้ว ยังมีอีก 5 พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่มีส่วนส่งเสริมนิสัยเห็นแก่ตัวให้ลูก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของตัวเองไปพร้อมกันค่ะ
1. ให้รางวัลตอบแทนลูกมากเกินไป
การให้ของรางวัลตอบแทนพฤติกรรมเชิงบวกของลูก เช่น ซื้อตุ๊กตาตัวใหม่ให้ เมื่อลูกช่วยทำงานบ้าน มีของรางวัลให้ทุกครั้งที่ลูกเชื่อฟัง แม้จะทำให้ลูกรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น แต่ก็อาจทำให้ลูกติดนิสัยทำดีหวังผล หรือคิดว่าต้องได้รางวัลตอบแทนความดีของตัวเองเสมอ
ความจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถชื่นชมและตอบแทนลูกได้ด้วยภาษากายที่แสดงความรู้สึกเชิงบวก เช่น พูดขอบคุณด้วยความจริงใจ รอยยิ้ม แววตา และการโอบกอด เพื่อฝึกให้ลูกรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกดีในสิ่งที่ลูกทำ และสิ่งสำคัญของการทำตัวดีไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของรางวัลเสมอไป
2. ละเลยที่จะสอนให้ลูกพูด ‘ขอบคุณ’
คุณพ่อคุณแม่อาจจะให้ความช่วยเหลือลูกด้วยความเต็มใจ จนลืมที่จะสอนให้ลูกรู้จักซาบซึ้งใจในน้ำใจของคนอื่น และละเลยที่จะสอนให้ลูกพูดขอบคุณด้วยความจริงใจ ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น และเข้าใจว่าตัวเองมีความสำคัญมากพอที่ทุกคนจะต้องแสดงน้ำใจและให้การช่วยเหลือ
แต่ความจริงแล้ว การสอนให้ลูกรู้จักขอบคุณคนอื่น จะช่วยให้ลูกรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพและเห็นคุณค่าของคนอื่น แล้วยังช่วยให้ลูกลดความเห็นแก่ตัวลงได้อีกด้วย
3. ไม่ได้สอนทักษะการทำงานเป็นทีม
งานวิจัย พบว่า เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม มีแนวโน้มที่จะรับฟังความคิดเห็นและยอมรับในความต้องการของผู้อื่นมากขึ้น
คุณพ่อคุณจึงควรฝึกและส่งเสริมให้ลูกมีทักษะการทำงานเป็นทีม เช่น รู้จักช่วยเหลือ รับฟังความคิดเห็น และรู้จักแบ่งปัน โดยการฝึกให้ลูกได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว เช่น ช่วยกันต่อภาพจิ๊กซอว์ ทำอาหาร ทำงานบ้าน หรือมอบหมายภารกิจเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกมีส่วนร่วม เพื่อเรียนรู้วิธีการให้ความร่วมมือกับคนอื่น
4. ไม่ได้ปลูกฝังนิสัยเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
การสอนลูกให้รู้จักเห็นอกเห็นใจ และคิดถึงจิตใจผู้อื่นจะช่วยให้ลูกลดการมองเห็นแต่ตัวเอง และความยึดติดกับความคิดของตัวเองก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน
คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกหรือส่งเสริมนิสัยเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ลูกได้หลายวิธี เช่น ให้ลูกดูแลสัตว์เลี้ยง สอนผ่านการเล่านิทาน หรือเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ลูกเห็น
COMMENTS ARE OFF THIS POST