จากเหตุการณ์น่าสะเทือนจิตใจทั้งคนเป็นลูกและคนเป็นแม่ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ (ที่มา) สิ่งหนึ่งที่เด็กหญิงในวัย 14 ปีสะท้อนออกมาหลังจากเป็นคนสำคัญที่ตัดสินใจทำเรื่องเลวร้ายให้เกิดขึ้น ก็คือ ‘ความเก็บกด ที่กลายเป็นโกรธแค้นที่เงียบที่สุด’ ตามข่าว เด็กหญิงให้เหตุผลว่าเป็นเพราะถูกแม่ดุด่ามาตั้งแต่เล็ก หลายครั้งที่ต้องการกำลังใจ แต่กลับได้คำซ้ำเดิม ทั้งกดดัน ทั้งเคียดแค้นที่ถูกปฏิเสธความรักจากแม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ท้ายสุดก็มีตัวกระตุ้น จนระเบิดออกมาอย่างรุนแรง กระทั่งจบลงด้วยความสูญเสีย
การเก็บกด (repression) เป็นรูปแบบหนึ่งของกลไกการป้องกันตนเอง จากความทรงจำที่ไม่ดี หรืออารมณ์ที่ต้องอดทน อดกลั้น คับข้องใจ เป็นระยะเวลานาน แล้วพยายามเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว จนวันหนึ่งที่เก็บไว้ไม่ไหว จากความรู้สึกที่อยู่ในใจก็เริ่มกลายเป็นพฤติกรรม เช่น มองโลกในแง่ร้าย และแสดงออกผ่านบุคลิกภาพ ท้ายที่สุด ความเก็บกดอาจกลายเป็นความโกรธแค้น และรุนแรงมากพอที่จะทำให้โศกนาฏกรรมได้
ความเก็บกดที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ย่อมมีการเลี้ยงดูของพ่อแม่และผู้ปกครองเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น พ่อแม่อย่างเราคงต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเด็กคนหนึ่งให้กลายเป็นเด็กเก็บกดต่อไปหรือไม่
เป็นพ่อแม่ที่ไม่ฟังความคิดเห็นของลูก
เด็กเล็กที่เริ่มบอกความต้องการของตัวเองได้ว่า ชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร นี่คือจุดเริ่มต้นของการแสดงความคิดเห็น ที่ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ ‘รับฟัง’ ความต้องการหรือความรู้สึกของลูก
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ ‘ไม่รับฟัง’ และไม่ให้โอกาสลูกแสดงความคิดเห็น เรียกการอธิบายเหตุผลของลูกว่า เป็นการเถียง ก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ผิด เมื่อนั้นลูกจะค่อยๆ รู้สึกว่า คำพูดของตัวเองไม่มีค่า ไม่มีความหมาย กลัวว่าพูดออกไปแล้วคุณพ่อคุณแม่จะไม่รัก หรือพูดออกไปคุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่เข้าใจอยู่ดี นี่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้ลูกต้องพยายามเก็บความรู้สึกและกดความต้องการของตัวเองเอาไว้ให้ลึกสุดใจ
เป็นพ่อแม่ที่ดุด่า ใช้คำพูดเชิงลบ ใช้อารมณ์ และลงโทษด้วยวิธีที่รุนแรง
ความรุนแรงทั้งทางวาจาหรือการกระทำ อาจเป็นวิธีที่ทำให้เด็กหวาดกลัวและยอมแพ้ แต่ซ้ำร้าย วิธีการนี้ยังทำให้เด็กคนหนึ่ง มีพฤติกรรมและทัศนคติที่เปลี่ยนไป และมีโอกาสที่จะถูกกระตุ้นให้ทำผิดได้ง่าย
ทุกเสียงดุด่าของคุณพ่อคุณแม่ ทุกร่องรอยที่ตีและทำร้ายลูกในแต่ละครั้ง ยิ่งรุนแรงมากเท่าไหร่ ยิ่งฝังลึกในจิตใจมากเท่านั้น ไม่ช้าคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะได้เห็นว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม เช่น การกัดเล็บจนสั้นกุดและแก้ไม่หายตั้งแต่เล็กจนโต
เป็นพ่อแม่ที่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่นเสมอ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเผลอเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงการวิพากย์วิจารณ์และการเข้มงวดกับลูกมากเกินไป เพียงเพื่อกระตุ้นลูกให้ทำและเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการนั้น เด็กบางคนอาจจะรับมือกับสถานการณ์เช่นนั้นได้ แต่เด็กบางคนก็อาจจะไม่สามารถแบกรับความกดดันที่คุณพ่อคุณแม่ส่งให้ได้ไหว ทำให้เกิดความเครียดและอึดอัด แต่พยายามเก็บและกดตัวเองไว้ แล้วแสดงออกเป็นพฤติกรรมดื้อเงียบ หรือก้าวร้าวรุนแรง เป็นการตอบโต้คุณพ่อคุณแม่แทน
เป็นพ่อแม่ที่ใช้ความรุนแรงใส่กัน
ทุกครั้งที่ลูกได้เห็นภาพการกระทำที่เลวร้าย หรือสัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันรุนแรง และลงไม้ลงมือใส่กัน โดยที่ตัวเองไม่สามารถรับมือหรือแก้ไขอะไรได้สถานการณ์เช่นนั้น อาจทำให้ลูกต้องเก็บความรู้สึกปวดร้าวไว้ในใจ กลายเป็นความเก็บกด ที่หากเกิดขึ้นซ้ำๆ และยาวนานมากเกินไปก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคทางจิตในวัยผู้ใหญ่มากขึ้น
ตรงกับผลการศึกษาที่ตีพิมพ์โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากความบอบซ้ำในวัยเด็ก มีโอกาสที่จะเกิดภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเกิดจากความกดดันทางจิตใจ หรือที่รู้จักกันว่า โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของลูกเป็นอย่างมาก
COMMENTS ARE OFF THIS POST