READING

ภาวะคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity): เมื่อการสอนใ...

ภาวะคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity): เมื่อการสอนให้ลูกมองโลกในแง่บวกมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี

ภาวะคิดบวกเป็นพิษ

ผู้ใหญ่อย่างเรารู้ดีว่า การคิดลบและมองโลกในแง่ร้าย ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตใจและอารมณ์ แต่ในทางกลับกัน การมองโลกในแง่ดีและคิดบวก จะช่วยให้เรามีกำลังใจและสุขภาพจิตที่ดีจนสามารถฝ่าฟันและผ่านพ้นเรื่องราวร้ายๆ ไปได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การคิดบวกหรือมองโลกในแง่ดีมากเกินไป อาจกลายเป็นการมองข้ามปัญหา อุปสรรค และความยากลำบากไปโดยไม่คิดหาทางแก้ไข อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘การหลอกตัวเอง’ จนเกิดปัญหาทับถม และกลายเป็นการทำร้ายตัวเอง หรือ ภาวะคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) ได้

Jaime Zuckerman นักจิตวิทยาคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย อธิบายว่า การฝืนคิดบวกในสถานการณ์ที่เลวร้าย โดยที่ภายในใจตัวเองรู้สึกเจ็บปวด คือการหลอกตัวเองเพื่อเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายใจ แต่การทำอย่างนั้นมักทำให้เกิดความวิตกกังวลซึมเศร้า และทำให้สุขภาพจิตโดยรวมแย่ลงในภายหลัง

เช่นเดียวกับ Svend Brinkmann นักจิตวิทยาชาวเดนมาร์ก ผู้เขียนหนังสือ Stand Firm: Resisting the Self-Improvement Craze ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นว่า เมื่อเกิดเรื่องเลวร้าย คนเราสามารถปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเสียใจได้ แต่ไม่ถึงกับว่าต้องอยู่กับความทุกข์ตลอดทั้งวัน และในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องพยายามเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความสุขในทันที เพราะจะกลายเป็นการบิดเบือนมุมมองที่ควรมีต่อความเป็นจริงได้

ดังนั้น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่า ภาวะคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) หรือการสอนลูกให้มองโลกในแง่ดีมากเกินไป อาจไม่ใช่เรื่องดีอย่างที่คิด เรามาลองฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่อยู่กับความเป็นจริง ไม่คิดลบมากเกินไป และไม่คิดบวกเกินพอดีด้วย 4 วิธี ต่อไปนี้

1. สอนให้ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ภาวะคิดบวกเป็นพิษ

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสอนให้ลูกปฏิเสธความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อโกรธ ลูกไม่จำเป็นต้องปฏิเสธว่าไม่ได้โกรธ แต่ควรยอมรับว่าตัวเองกำลังโกรธและเรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์โกรธนั้น

เพราะผลเสียของการปฏิเสธอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ทำให้ลูกไม่เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ผลกระทบต่อมาก็คือ ลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ที่แท้จริงของตัวเองได้ เพราะคุ้นเคยกับการบิดเบือน ปฏิเสธ และปกปิดภาวะอารมณ์ที่ตัวเองไม่ยอมรับเอาไว้นั่นเอง

2. สอนให้ลูกรู้จักระบายความรู้สึกในใจ

ภาวะคิดบวกเป็นพิษ

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแง่ลบหรือแง่บวก การเก็บความรู้สึกให้คุกรุ่นอยู่ภายในใจก็ไม่ใช่วิธีจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่ดีที่สุด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักการระบายความรู้สึกในใจออกมา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ คนที่ลูกไว้ใจ หรือแม้แต่การเขียนระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา

3. สอนให้ไม่คาดหวังมากเกินไป

ภาวะคิดบวกเป็นพิษ

การมีความหวังเป็นเรื่องดี เพราะความหวัง จะเป็นแรงผลักดันให้ลูกมีความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองมากขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะสอนให้ลูกมีความคาดหวังที่พอดี ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และรู้จักหาวิธีที่จะทำให้ความหวังเป็นจริงได้ เช่น ลูกมีความหวังว่าจะสอบได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของห้อง ก็ต้องรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร แล้วหาวิธีพัฒนาจุดอ่อนนั้น

ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะสอนให้ลูกเตรียมรับมือกับความผิดหวัง เช่น ลูกพยายามเต็มที่แล้ว ก็อาจจะมีคนอื่นทำคะแนนดีกว่าได้เช่นกัน

4. คิดลบบ้างก็ไม่ผิด

ภาวะคิดบวกเป็นพิษ

ถึงแม้การมองโลกในแง่ร้าย จะมีโอกาสทำให้ลูกเป็นคนที่มีรูปแบบความคิดที่เป็นพิษต่อตัวเองและคนรอบข้าง แต่ความจริงแล้วการคิดในแง่ลบหรือมองโลกในแง่ร้ายบ้างก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด เพราะบางครั้งการมองโลกในแง่ร้าย ก็จะช่วยให้ลูกรู้จักระมัดระวังและป้องกันตัวเองจากอันตรายหรือการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ เช่น ถ้าหากว่าลูกรู้สึกระแวงหรือไม่ปลอดภัยกับคนแปลกหน้า ก็จะรีบพาตัวเองออกมาจากตรงนั้นได้

 

— อ่านบทความ: ฝึกลูกให้เป็นเด็กคิดบวก ด้วยการมองโลกในแง่ดี
อ้างอิง
Relationships Australia
healthline
verywellmind
Cleveland Clinic
thepsychologygroup
BBC

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST