READING

มีลูกคนเดียว จะดี (ต่อลูกและเรา) หรือเปล่านะ...

มีลูกคนเดียว จะดี (ต่อลูกและเรา) หรือเปล่านะ

มีลูกคนเดียว

หลังจากลูกคนแรกอายุได้ 2-3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่น่าจะเริ่มเจอคนรอบข้างถามหรือแนะนำให้รีบมีลูกคนที่สอง ด้วยเหตุผลและข้อดีต่างๆ นานา

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่ทันหายเหนื่อยจากการเลี้ยงลูกคนแรก พอถูกถามว่าจะ มีลูกคนเดียว จริงหรือ ก็เริ่มกลับมาประเมินสภาพคล่องทางการเงินและความพร้อมของครอบครัว ด้วยความลังเลว่าควรมีลูกสองคนดีหรือเปล่า

ในปี 2018 มีผลสำรวจของ Gallup Poll ศูนย์วิเคราะห์และให้คำปรึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ครอบครัวในสังคมอุดมคติของสหรัฐอเมริกา คือการแต่งงานมีบ้านสักหลัง และมีลูกสองคน

แต่ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Pew ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2016 พบว่า หนึ่งในสี่ของคุณแม่ชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 40-44 ปี มีลูกคนเดียว ในขณะที่เมืองใหญ่อย่างแมนฮัตตัน ก็มีครอบครัวที่มีลูกคนเดียวมากถึง 30 % ส่วนพ่อแม่ชาวแคนาดา ก็มี ลูกคนเดียว มากถึง 39% และเกือบครึ่งของครอบครัวในสหภาพยุโรปก็มีลูกเพียงคนเดียวเท่านั้น

Emily Fair Oster คุณแม่ลูกสอง นักเศรษฐศาสตร์ และนักเขียน ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นกูรูด้านการเลี้ยงลูก ให้ความเห็นว่า ไม่เป็นไรเลยที่คู่แต่งงานจะเลือกมีลูกคนเดียว หรือจะไม่มีเลยก็ย่อมได้ เพราะการมีลูกไม่ใช่การเติมเต็มชีวิตหลังแต่งงานเสมอไป เพราะสิ่งที่คู่แต่งงานควรเลือกคือ เป้าหมายที่มีร่วมกันของคนสองคนมากกว่า

แต่ทั้งหมด ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าการมีลูกมากกว่าหนึ่งคนจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี เมื่อเทียบกับการมีลูกคนเดียว เราจึงชวนคุณพ่อคุณแม่มาลองทบทวน ประเมินสถานการณ์ และพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะมีลูกคนเดียวต่อไปดีไหมนะ…

1. พิจารณาจากสถานภาพทางการเงินของครอบครัว

มีลูกคนเดียว

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น การออมเพื่อการศึกษาของลูก และเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง รวมถึงบริบททางสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดูเหมือนจะทำให้การเลี้ยงดูเด็กสักคนยากขึ้นทุกที

เราจึงพบเห็นคู่แต่งงานรุ่นใหม่ที่เลือกการไม่มีลูกเป็นคำตอบของครอบครัว โดยหนึ่งในสี่ของผู้ชายที่แต่งงานแล้ว มองเรื่องการเงินของครอบครัวเป็นหลัก ก่อนจะตัดสินใจเรื่องมีลูก และหากต้องการมีลูก ก็เลือกที่จะมีคนเดียวมากกว่าการมีลูกคนที่สองตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

Dr. Andrea Shortland นักจิตวิทยาคลินิกและนิติเวช ระบุว่า สังคมได้ตีกรอบให้คู่แต่งงานต้องสร้างครอบครัวจากทรัพยากรภายนอก ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน สถานภาพทางการเงิน เวลา ความพร้อม และความสามารถในการเลี้ยงดูลูก เพื่อตอบสนองค่านิยมที่ว่าการมีลูกจะทำให้ครอบครัวสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นแต่ทั้งนี้ การเงิน ก็อาจจะไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการมีลูกคนที่สอง เพราะแต่ละครอบครัวก็มีเหตุผลร่วมในการพิจารณาที่แตกต่างกันได้

2. วิถีชีวิตของลูกคนเดียว

มีลูกคนเดียว

The New York Times ตีพิมพ์ผลงานของ Emily Fair Oster เรื่อง Only Children Are Not Doomed ระบุว่า การเป็นลูกคนเดียวก็มีความสุขดี เรียนเก่งได้ มีเพื่อนเยอะ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่มากกว่าครอบครัวที่มีพี่น้อง  นอกจากนั้น ลูกคนเดียวยังพึ่งพาตัวเองได้ดี มีความมั่นใจในตัวเอง เข้าสังคมเก่ง และไม่ได้เห็นแก่ตัวอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ

#ลูกคนเดียวเรียนเก่ง จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน American Sociological Review ระบุว่า ลูกคนเดียวมีโอกาสที่จะเรียนเก่งมากขึ้น เพราะ เมื่อขนาดครอบครัวเพิ่มขึ้น ผู้ปกครองก็จะพูดคุยกับลูกแต่ละคนน้อยลง บางครอบครัวให้ความสำคัญกับคุณภาพทางการศึกษาลดลง เพื่อประหยัดค่าเล่าเรียนลูกๆแต่อีกด้านของลูกคนเดียว ที่มักจะต้องเล่นและอยู่ตามลำพัง เวลาช่วงนั้นอาจนำไปสู่สู่การค้นพบความสามารถพิเศษ รวมถึงการทบทวนบทเรียนทำให้ผลการเรียนดีขึ้นได้

#ลูกคนเดียวมีความทะเยอทะยาน การศึกษาของนักศึกษาแพทย์พบว่า ลูกคนเดียวมีความทะเยอทะยานมากกว่าลูกที่มีพี่น้อง โดยเฉพาะในครอบครัวชนชั้นกลาง เพราะพ่อแม่จะมีเวลา คอยผลักดันและให้การสนับสนุนความชอบของลูก ส่งผลให้ลูกเกิดความมั่นใจใจตัวเอง และมีความทะเยอทะยานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจได้อย่างเต็มที่

#ลูกคนเดียวควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียวจะ สามารถจัดการและการควบคุมอารมณ์ตัวเองและลูกได้ดีกว่า เพราะไม่ต้องรับมือกับลูกทีละหลายคน ลูกก็ไม่ต้องคอยแข่งขันกับพี่น้อง ช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูกได้ดีขึ้น

#ลูกคนเดียวมีความเป็นผู้ใหญ่ในตัวสูง เพราะลูกคนเดียวมีเวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่อย่างเต็มที่ ลูกจึงจำลองบุคลิกภาพ เลียนแบบพฤติกรรม และซึมซับแนวคิดแบบผู้ใหญ่ได้มากกว่าเด็กที่มีพฤติกรรมของพี่น้องให้เห็นตลอดเวลา

แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ยังไม่มีงานวิจัยใด ยืนยันได้ว่า การมีพี่น้องหรือเป็นลูกคนเดียวจะดีกว่ากัน มีเพียงการยืนยันว่าเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสมของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ที่จะเป็นช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับลูก เพื่อเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมต่อไปได้

3. ‘ความสุข’ แบบเราสามคน

มีลูกคนเดียว

Dr. Jocelyne Kenny นักจิตวิทยาคลินิกจาก The Pocket Family Psychologist ให้ความเห็นถึง ความสุขของครอบครัวว่า ตัวชี้วัดความสุขของครอบครัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีลูกกี่คน แต่เกิดจากคุณภาพของครอบครัวที่มีร่วมกัน

เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเพื่อการวิจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ พบว่า การแข่งขันระหว่างพี่น้อง หรือการแกล้งกัน อาจทำให้เด็กคนใดคนหนึ่งไม่มีความสุข แม้ว่าพวกเขาจะรักกันมากก็ตาม

นักวิจัยยังระบุว่า ไม่ใช่แค่ความสุขของลูก แต่ยังส่งผลต่อความสุขของพ่อแม่ เพราะการศึกษาพบว่า คุณแม่ที่มีลูกคนเดียวมีความสุขมากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก และมีความสุขมากกว่าคุณแม่ที่มีลูกตั้งแต่สองคนขึ้นไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบท และความสามารถในการเลี้ยงดูลูกของแต่ละครอบครัวด้วย

4. การมีพี่น้องก็ดีเหมือนกันนะ!

มีลูกคนเดียว

Caroline Artley นักจิตอายุรเวท ที่ได้รับใบอนุญาต Licensed Certified Social Worker–Clinical ระบุว่า เมื่อเด็กยังเล็ก บทเรียนแรกของการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เกิดจากการมีพี่น้อง เช่น ได้เรียนรู้การกระทำของตัวเองที่ส่งผลต่อพี่น้อง และการกระทำของพี่น้องที่ส่งผลต่อตัวเอง เรียนรู้ความผิดพลาดจากการสังเกต รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาหรือความขัดแย้งระหว่างพี่น้องด้วยการไกล่เกลี่ยจากพ่อแม่

นอกจากนี้งานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การมีพี่น้อง จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ดี แต่ก็มีโอกาสทำให้เด็กสร้างกลไกป้องกันตัวเอง ด้วยการเรียนรู้ที่จะเห็นแก่ตัวมากขึ้นได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร สิ่งสำคัญคือ การรับฟังความต้องการของกันและกัน มากกว่าการให้น้ำหนักหรือกังวลเพราะคำแนะนำหรือคำถามมากมายจากคนรอบข้างนะคะ

 

—อ่านบทความ: นิสัยที่แตกต่างกันระหว่างลูกลูกคนเดียว VS. ลูกที่มีพี่น้อง
อ้างอิง
salon
we have kids
research addict
yahoo

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST