READING

ลูกนอนสะดุ้ง: 4 สาเหตุอาการนอนผวาและตื่นบ่อยของเจ้...

ลูกนอนสะดุ้ง: 4 สาเหตุอาการนอนผวาและตื่นบ่อยของเจ้าตัวเล็ก

ลูกนอนสะดุ้ง

คุณพ่อคุณแม่คงเคยสังเกตเห็นอาการ ลูกนอนสะดุ้ง หรือนอนหลับอยู่ดีๆ ลูกก็มีอาการกระตุก ผวา ร้องไห้ และตกใจตื่นขึ้นมา จนคุณพ่อคุณแม่เริ่มไม่สบายใจว่า การที่ ลูกนอนสะดุ้ง ผวา จนตื่นกลางดึก ถือเป็นความผิดปกติหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไรกันแน่…

อาการนอนผวาในเด็ก (Hypnic Jerk) ส่วนใหญ่มักพบในทารกแรกเกิดจนถึงช่วงอายุประมาณ 4 ปี เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงที่กำลังเริ่มเข้าสู่การนอนหลับ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เอง หรือเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เรียกว่า Moro Reflex หรือการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การกระตุกจากการได้ยินเสียงดังขณะนอนหลับ ซึ่งทางการแพทย์เผยว่า อาการนอนผวาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาของเด็กโดยตรง แต่จะทำให้เด็กมีอาการอ่อนเพลีย อารมณ์ขุ่นมัว ไม่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพราะนอนหลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ

ดังนั้น ถึงการนอนผวาหรือสะดุ้งตื่นจะไม่เป็นอันตรายกับลูกโดยตรง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรทำความเข้าใจและหาวิธีแก้ไข เพื่อให้ลูกรักได้นอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่ตื่นกลางดึกจนส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของลูกต่อไป

ลูกนอนสะดุ้ง เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

1. ลูกได้รับคาเฟอีนจากน้ำนมคุณแม่

twitchingsleep_web_1

มีการศึกษาพบว่า คาเฟอีนจากกาแฟที่คุณแม่ดื่ม สามารถส่งผ่านจากน้ำนมมาสู่ลูกได้ ดังนั้นคาเฟอีนจึงสามารถทำปฏิกิริยากระตุ้นระบบประสาทและสมอง ทำให้ลูกนอนไม่หลับ กระวนกระวาย และเกิดอาการนอนผวาได้

สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก การงดดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดโอกาสการนอนแล้วผวาหรือสะดุ้งตื่นของลูกได้

2. ลูกมีภาวะโซเดียมต่ำ

twitchingsleep_web_2

การขาดโซเดียมสามารถทำให้ร่างกายมีอาการกระตุกได้ เพราะโซเดียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการช่วยรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในร่างกาย เมื่อปริมาณโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติจะทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ทำให้ลูกมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกขณะนอนหลับได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญ และรักษาระดับด้วยการกินผักผลไม้ที่มีโซเดียม เช่น แตงกวา มะเขือเทศ เมล็ดฟักทอง ในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ

3. ร่างกายอ่อนเพลีย

twitchingsleep_web_3

พญ. ขวัญเมือง ณ ตะกั่วทุ่ง เผยว่า ความอ่อนเพลียของร่างกายเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะนอนผวาในเด็ก เนื่องจากเด็กเล็กเป็นวัยที่มีพละกำลังเหลือล้น จนสามารถวิ่งเล่นทั้งวันได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า แต่ความจริงแล้วร่างกายอาจมีอาการเหนื่อยล้าสะสม ทำให้เกิดกล้ามเนื้อกระตุกในเวลานอนหลับได้

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือดูแลให้ลูกกินอาหารมื้อเย็นที่ย่อยง่าย และดื่มนมอุ่นๆ ก่อนนอน เพื่อให้ร่างกายลูกได้ผ่อนคลายและหลับสบายขึ้น แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการกระตุกบ่อยและรุนแรงขึ้น ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับอาการกระตุกต่อไปนะคะ

4. ความเครียดและความวิตกกังวล

twitchingsleep_web_4

 ความเครียดและความวิตกกังวลจะกระตุ้นให้สมองและร่างกายตื่นตัวเพื่อรับมือกับปัญหาและสิ่งที่ทำให้กังวล จึงทำให้ร่างกายเกิดการกระตุกแบบฉับพลันได้

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิดและหากิจกรรมคลายเครียด เช่น เล่านิทาน ออกกำลังกายเบาๆ หรือชวนลูกคุยเล่นก่อนเข้านอน เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ แล้วนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น การโอบกอดลูกก่อนเข้านอน ยังช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดของลูก และช่วยลดอาการนอนสะดุ้งและผวาตื่นลงได้เช่นกัน

—อ่านบทความ: 5 สัญญาณเตือนว่าลูกอาจจะอยู่ในภาวะนอนไม่พอ!: เพราะการนอนไม่พอมีผลเสียมากกว่าที่คิด
อ้างอิง
SleepFoundation
enfababy
Pobpad
Momraisin

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST