READING

ลูกอารมณ์ไม่มั่นคง: 4 เทคนิคสอนลูกให้รู้ทันอารมณ์ต...

ลูกอารมณ์ไม่มั่นคง: 4 เทคนิคสอนลูกให้รู้ทันอารมณ์ตัวเอง

ลูกอารมณ์ไม่มั่นคง

ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Stability) จัดเป็นหนึ่งในลักษณะทางบุคลิกภาพที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนและส่งเสริมให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะคุณสมบัติของคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการอดทนรอคอย รับมือกับความกดดันและสถานการณ์ที่ยากลำบาก และยอมรับความจริงได้ นับเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการเติบโตของลูกในอนาคต

แต่เมื่อ ลูกอารมณ์ไม่มั่นคง สิ่งที่ตามมาก็คือ พฤติกรรมที่สร้างความหนักใจให้คุณพ่อคุณแม่ เช่น ร้องไห้งอแง เอาแต่ใจตัวเอง กรีดร้อง ขว้างปาข้าวของ และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวได้

นอกจากนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเป็นเด็กที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ต่อเนื่องไปจนโต ก็จะส่งผลให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึก (Sense-Control) และมักจะมีวุฒิภาวะที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่ ลูกอารมณ์ไม่มั่นคง นอกจากจะส่งผลถึงบุคลิกภาพและพฤติกรรมในวัยเด็กแล้ว ยังเกี่ยวข้องไปสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย

แล้วคุณพ่อคุณแม่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูกด้วยการสอนให้ลูกรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้อย่างไร เรามีเทคนิคดีๆ มาบอกค่ะ

1. สอนลูกเรื่องความแตกต่างของอารมณ์และการแสดงออก

EmotionalStability_web_1

ความโกรธ โมโห วิตกกังวล หรือเสียใจ ล้วนเป็นอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นตามกระบวนการธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมส่วนการแสดงออก คือพฤติกรรมที่ลูกปฏิบัติหรือตอบโต้คนรอบข้างเมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบ

คุณพ่อคุณแม่ลองยกตัวอย่างสถานการณ์ให้ลูกเข้าใจง่ายๆ เช่น การที่ลูกจะรู้สึกโกรธเวลาถูกเพื่อนแย่งของเล่น หรือรู้สึกเสียใจหลังจากโดนคุณแม่ดุนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่ลูกแสดงออกต่างหากที่จะบอกว่าลูกรับมือกับอารมณ์นั้นอย่างเหมาะสมหรือไม่ เช่น เมื่อลูกโกรธเพื่อนที่มาแย่งของเล่น ลูกควรเจรจาขอของเล่นคืน หรือขอความช่วยเหลือจากคุณครู ไม่ใช่ระบายความโกรธด้วยการกรีดร้องหรือใช้ความรุนแรงกับเพื่อน

เพราะการปล่อยให้ลูกแสดงออกและตอบสนองอารมณ์ของตัวเองด้วยวิธีก้าวร้าว จะยิ่งกระตุ้นอารมณ์เชิงลบให้รุนแรงมากขึ้นและทำให้ลูกไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ในระยะยาว

2. สอนลูกผ่านการเล่านิทาน

EmotionalStability_web_2

นิทานเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่สื่อสารเรื่องที่ยากและซับซ้อน ให้กลายเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่ายสำหรับลูก เพราะนิทาน ประกอบไปด้วยตัวละครที่มีนิสัยใจคอ บุคลิก และการแสดงอารมณ์ที่หลากหลาย คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ตัวละครในนิทานสอนลูกให้รู้จักและรู้ทันอารมณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสวมบทบาทตัวละครและเน้นย้ำคำที่แสดงความรู้สึก เช่น กระต่ายน้อยกำลังมีความสุข ลูกหมีกำลังรู้สึกเศร้า เจ้าแมวกำลังโกรธ หรือเด็กน้อยเกิดความกลัว จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าทุกคนสามารถมีอารมณ์ที่หลากหลายเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

3. เกมบิงโกรู้ทันอารมณ์

EmotionalStability_web_3

การเล่นเกมจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้นและรู้สึกสนุกสนานมากขึ้น เกมบิงโกก็สามารถช่วยส่งเสริมให้ลูกรู้ทันอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นได้โดยให้คุณพ่อคุณแม่และลูกตีตาราง 9 ช่องลงในกระดาษ และเขียนชื่ออารมณ์ที่แตกต่างกันลงไปในแต่ละช่องจนครบ เช่น โกรธ กลัว ดีใจ หรือตื่นเต้น เหมือนกันทั้งสามคน จากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่เปิดการ์ตูนเรื่องโปรดของลูก หากเห็นว่าตัวละครกำลังแสดงอารมณ์แบบไหนก็ให้วงกลมที่ชื่ออารมณ์นั้นในช่องบิงโกของตัวเอง ตารางบิงโกของใครมีวงกลมเรียงแถวในแนวนอน แนวตั้ง หรือแนวเฉียงได้ก่อน ก็เป็นฝ่ายชนะนั่นเอง

4. ฝึกให้ลูกจดบันทึกอารมณ์ในแต่ละวัน (Mood Check-ing)

EmotionalStability_web_4

คุณพ่อคุณแม่สามารถทำสมุดบันทึกอารมณ์ให้ลูกจดบันทึกอารมณ์ตัวเองในแต่ละวัน หรือทำเป็นสมุดภาพที่มีตัวการ์ตูนแสดงสีหน้าต่างๆ และกำหนดสีแทนอารมณ์ เช่น ให้ลูกระบายสีเหลืองบนตัวการ์ตูนที่แสดงสีหน้ามีความสุข ระบายสีแดงบนตัวการ์ตูนที่ทำหน้าโกรธ

หลังจากที่ลูกได้บันทึกอารมณ์ของตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองให้ลูกเล่าเรื่องราวที่ทำให้รู้สึกมีความสุขหรือสาเหตุที่ทำให้ลูกรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ หรือเสียใจ เพื่อทบทวนตัวเอง และทำให้คุณพ่อคุณแม่จะได้รับรู้ถึงความรู้สึก และเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับลูก นอกจากนั้น หากพบว่าลูกมีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจหรือไม่มีความสุขก็จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาต่อไปค่ะ

 

— อ่านบทความ: มาสอนลูกให้ใจเย็น ทักษะสำคัญของการเติบโตกันดีกว่า!
อ้างอิง
Punmai
verywell family
wyethparenteam

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST