READING

ลูกไม่ยอมนั่งชักโครก:แชร์ประสบการณ์ใช้เวลาเกือบปี ...

ลูกไม่ยอมนั่งชักโครก:แชร์ประสบการณ์ใช้เวลาเกือบปี ลูกถึงทำได้สำเร็จ

ลูกไม่ยอมนั่งชักโครก

ลูกไม่ยอมนั่งชักโครก โดยเฉพาะเวลาปวดอุจจาระ น่าจะเป็นหนึ่งในหลายเรื่องของลูกวัยอนุบาลที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ เพราะการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปนานเกินไป จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพด้านการขับถ่ายและความมั่นใจในการเข้าห้องน้ำของลูกด้วย

คุณแม่อย่างเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อลูกชายวัยใกล้สี่ขวบ ยังไม่มีวี่แววว่าจะยอมนั่งชักโครกเพื่อขับถ่าย ทั้งที่สามารถเข้าห้องน้ำ และยืนปัสสาวะได้เองตั้งแต่อายุสองขวบครึ่ง แต่เมื่อปวดอุจจาระ ลูกกลับวิ่งไปหยิบผ้าอ้อมสำเร็จรูปมาใส่แล้วไปหามุมทำธุระของตัวเองเสมอ

เป็นแบบนี้เรื่อยมาจนสามขวบ ถึงเวลาที่ลูกต้องเข้าโรงเรียน เราจึงคิดว่าถึงเวลาต้องบอกลาผ้าอ้อมสำเร็จรูปอย่างจริงจังเสียทีแต่กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องใช้เวลาเกือบปี กว่าที่ลูกชายวัย 4 ขวบ จะเอาชนะความกลัวและสามารถนั่งชักโครกเพื่อขับถ่ายเองได้สำเร็จ

และนี่คือประสบการณ์สอนลูกให้บอกลาผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่แม่ต้องใช้เวลานานเกือบปี เพื่อความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ของลูกเท่านั้น

ทำไม ลูกไม่ยอมนั่งชักโครก

PoopPotty_1

เมื่อลองย้อนหาสาเหตุที่ทำให้ลูกรู้สึกประหม่าและไม่มั่นใจการนั่งชักโครก ก็มีความเป็นไปได้ว่า ตอนสองขวบครึ่ง ลูกเคยมีประสบการณ์ปวดอุจจาระนอกสถานที่ แล้วบอกคุณแม่ให้พาไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน ลูกจึงนั่งลงอุจจาระใต้ต้นไม้ ท่ามกลางเสียงแซวจากผู้ใหญ่ที่อยู่บริเวณนั้น

เราพยายามปลอบลูกว่าการขับถ่ายเป็นเรื่องธรรมชาติ และครั้งนี้ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย แต่เหตุการณ์นั้นก็น่าจะมีส่วนทำให้ลูกฝังใจ และมั่นใจกับการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมากกว่า

Deborah Goldman ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับในเด็ก แห่งรัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า เด็กวัยนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายที่แตกต่างกัน บางคนนั่งชักโครกได้ แต่มีภาวะท้องผูก ทำให้รู้สึกเจ็บเวลาขับถ่ายแต่เด็กส่วนมากจะมีปัญหากับการนั่งชักโครก ซึ่งอาจเกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวจะตกลงไปในชักโครก กลัวเสียงกดน้ำ และคุ้นเคยกับการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมากกว่า

ซ้อมนั่งชักโครกครั้งที่หนึ่ง สู่ครั้งที่ร้อย

PoopPotty_2

เราอาจเป็นคุณแม่ขี้กังวล กลัวว่าหากบังคับให้ลูกนั่งชักโครกเร็วเกินไป อาจทำให้ลูกต่อต้าน ด้วยการกลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อระบบสำไส้หรือท้องผูกได้ เราจึงยอมให้ลูกนั่งอุจจาระในผ้าอ้อมสำเร็จรูปได้อย่างสบายใจ จนสามขวบ

แล้วก็เริ่มลองชวนลูกนั่งชักโครกครั้งแรก ลูกดูสนุกกับการทดลอง แต่พอถึงเวลาต้องใช้งานจริง ก็ไปหยิบผ้าอ้อมสำเร็จรูปมาใส่เหมือนเดิมทุกที

#เล่านิทานก่อนนอน วิธีแรกที่เรานึกออกก็คือ อ่านหนังสือนิทานเรื่องการนั่งชักโครก เล่าเรื่องการนั่งกระโถนของคุณพ่อคุณแม่ตอนเด็กๆ ให้ฟัง ใช้ตุ๊กตาตัวโปรดของลูกมาสร้างแรงบันดาลใจในการเข้าห้องน้ำ ก็ยังไม่ได้ผล

#ชวนลูกไปซื้อที่รองนั่งชักโครก วิธีที่สองคือ ให้ลูกเลือกที่รองนั่งในชักโครกด้วยตัวเอง เรียกได้ว่า บ้านเรามีคอลเล็กชั่นที่รองนั่งชักโครกสำหรับเด็กหลากหลายรูปแบบ แต่ลูกก็ไม่ยอมใช้สักอัน

#ลองเปลี่ยนท่านั่งบนชักโครก เราพบว่า การนั่งชักโครกในท่าปกติ ลูกรู้สึกว่าอุจจาระไม่ออก การนั่งยองจะช่วยให้ลูกอุจจาระได้ง่ายกว่า เราจึงลองให้ลูกใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้วขึ้นไปนั่งยองบนชักโครก แต่ลูกยังดูเกร็งและกลัวจะตกลงมา สุดท้ายก็กลับไปหามุมสะดวกของตัวเองอยู่ดี

#เสนอรางวัลเด็กกล้าหาญ ไม่แน่ใจว่า วิธีนี้ถูกต้องหรือเปล่า แต่เราคิดว่าการเสนอรางวัลจูงใจ น่าจะทำให้ลูกมีเป้าหมายและอยากทำให้สำเร็จมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง วิธีนี้ก็ยังเอาชนะใจลูกไม่ได้อยู่ดี

#ชวนลูกนั่งชักโครกทุกวัน ทุกครั้งที่ลูกปวดอุจจาระ เราจะชวนลูกให้ไปนั่งที่ชักโครก แต่เมื่อคิดย้อนกลับไป ก็ต้องยอมรับอย่างหมดใจเลยว่า คำพูดเชิญชวนของเราแท้จริงแล้วก็เป็นคำพูดเชิงบังคับ ที่อาจทำให้ลูกรู้สึกกดดันมากกว่า

ความเครียดของแม่ สู่ความกดดันของลูก

PoopPotty_3

ด้วยความคาดไม่ถึง แต่การที่คอยบอกให้ลูกนั่งชักโครกทุกครั้ง จะทำให้เกิดความเครียดด้วยกันทั้งแม่และลูก จนมาถึงจุดที่ไม่ควรทำเลยก็คือ การพูดเสียงดังใส่ลูก ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและใช้ไม่ได้ผลที่สุด

ผลที่ตามมาก็คือ ลูกไม่ยอมบอกว่าต้องการเข้าห้องน้ำ ไม่บอกว่าปวดอุจจาระ ได้แต่บ่นว่าปวดท้อง ยืนบิดไปมา และเคยกลั้นไม่ยอมอุจจาระเลยนาน 4 วัน จนท้องผูก ต้องเบ่งอย่างทรมาน และสุดท้ายต้องใช้ยาสวนเพื่อให้ขับถ่ายได้

เรื่องถึงมือหมอ

PoopPotty_4

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เราลองปรึกษาคุณหมอ และได้รับคำแนะนำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องเชื่อมั่น ไม่กดดัน และรอเวลาที่ลูกพร้อม เขาก็จะทำได้ในที่สุด

คุณหมอเล่าเคสตัวอย่างให้ฟังว่า มีคุณแม่ของเด็กประถมคนหนึ่ง มาปรึกษาปัญหาเดียวกับเรา พ่อแม่ยังต้องพกผ้าอ้อมสำเร็จรูปไปทุกที่

คุณหมอก็ให้คำแนะนำแบบเดียวกันคือให้เวลาและรอจนกว่าลูกจะทำได้เอง

เริ่มนับหนึ่งใหม่ = ทำสำเร็จ

PoopPotty_5

หลังตั้งสติได้ใหม่ เรากอดและขอโทษลูก แล้วกลับมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งด้วยการความนุ่มนวลในคำพูด อธิบายให้ลูกฟังถึงข้อดีของการนั่งชักโครก และเล่านิทานที่แต่งขึ้นเอง เรื่อง คุณชักโครกผู้ใจดี กับ เจ้าเพิร์สจอมวายร้าย ให้ลูกฟัง อย่างละมุนละม่อม และค่อยเป็นค่อยไป

#ขอแค่เข้าไปอุจจาระในห้องน้ำ เรายังยอมให้ลูกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แต่ขอให้เปลี่ยนการหลบมุมในบ้าน เป็นการเข้าไปนั่งในห้องน้ำได้

#ขยับจากนั่งในห้องน้ำเป็นนั่งบนชักโครก เมื่อลูกยอมเข้าไปนั่งในห้องน้ำแล้ว ขั้นต่อไปก็คือยอมให้ลูกใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเหมือนเดิม แต่ขึ้นไปนั่งบนชักโครกในท่าที่ลูกถนัด

#ลูกทำได้ ทำอย่างนั้นเรื่อยมา จนเหลืออีกเพียงหนึ่งเดือน ลูกก็จะครบสี่ขวบแล้ว จู่ๆ ลูกก็มาบอกแม่ว่า ปวดท้อง แล้วเดินไปนั่งชักโครกได้โดยไม่เรียกหาผ้าอ้อมสำเร็จรูป หลังจากทำธุระเรียบร้อยแล้วยังล้างก้นทำความสะอาดตัวเองได้อีก

ครั้งแรกทำได้ ก็มีครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และครั้งต่อๆ มา จนถึงวันนี้ ลูกก็บอกลาผ้าอ้อมสำเร็จรูปได้สำเร็จ!

หากคุณพ่อคุณแม่ที่พบกับปัญหาในเรื่องเดียวกัน เราขอยืนยันอีกเสียงว่า ลูกจะนั่งชักโครกได้เมื่อเขาพร้อม บวกกับการใช้วิธีที่อ่อนโยนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

จากประสบการณ์นี้ ยิ่งทำให้แม่อย่างเรามั่นใจว่า เราสามารถใช้แนวคิดเชิงบวกนี้ได้ในทุกสถานการณ์ของการเลี้ยงลูก เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุขได้ในทุกวัน

อ้างอิง
health.clevelandclinic.org

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST