READING

อยากเล่นกับเด็ก แต่เล่นกับเด็กไม่เป็น: 4 เทคนิคเข้...

อยากเล่นกับเด็ก แต่เล่นกับเด็กไม่เป็น: 4 เทคนิคเข้าหาและเข้าใจเด็กเล็ก

อยากเล่นกับเด็ก

คุณพ่อคุณแม่คงเคยลำบากใจ เวลาที่ญาติพี่น้อง คนรู้จัก หรือคนแปลกหน้าอยากเข้ามาทักทาย หยอกล้อ และเล่นกับลูกของเรา แต่ปัญหาก็คือ ผู้ใหญ่บางคน อยากเล่นกับเด็ก แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าหาเด็กอย่างไร

พอเจอคนที่เข้าหาเด็กไม่เป็น แทนที่ลูกจะอารมณ์ดีสนุกสนานก็กลายเป็นหงุดหงิดงอแง หรือร้องจ๊ากออกมาให้เสียบรรยากาศกันไปอีก

แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ความช่วยเหลือ ด้วยการแนะนำวิธีการเข้าหาลูกของเราหรือเด็กคนอื่นให้กับคนที่ อยากเล่นกับเด็ก แต่เข้าหาเด็กไม่เป็น ด้วย 4 เทคนิค ดังต่อไปนี้

1. บอกให้สร้างความคุ้นเคยก่อน

อยากเล่นกับเด็ก

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้คนอื่นจู่โจมหรือเข้าถึงตัวลูก โดยที่ลูกไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสตัว อุ้ม กอด หอม หรือแม้แต่เข้ามาหยอกล้อด้วยความสนุกสนาน เพราะจะทำให้ลูกตกใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย และพาลทำให้ลูกรู้สึกไม่ไว้ใจคุณพ่อคุณแม่ด้วย

วิธีที่ควรทำก็คือควรบอกให้คนที่จะเข้ามา ค่อยๆ สร้างความคุ้ยเคยกับลูก เช่น เว้นระยะในการทักทาย แนะนำตัว ชวนพูดคุยอย่างสุภาพนุ่มนวล และให้เวลาลูกได้ทำความรู้จักจนไว้ใจที่จะเล่นด้วยในลำดับต่อไป

2. เตือนว่าอย่าหยิบหรือดึงของออกจากมือลูก

อยากเล่นกับเด็ก

ผู้ใหญ่บางคนต้องการเรียกร้องความสนใจจากเด็ก ด้วยการพยายามแย่งสิ่งของในมือเด็ก เพื่อหลอกล่อและหวังจะสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อไป

แต่นั่นเป็นวิธีเข้าหาเด็กๆ ที่ไม่ดีเลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่จึงควรแนะนำคนที่จะเข้ามาเล่นกับลูกว่า อย่าดึงหรือแย่งของในมือลูก เพราะนอกจากจะทำให้ลูกของเราตกใจแล้ว ลูกยังได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีในการเจอคนแปลกหน้า อาจสร้างนิสัยก้าวร้าว หวงของ และหวาดระแวงว่าจะมีคนมาแย่งของในมือได้

3. อย่าบังคับหรือฝืนใจลูก

อยากเล่นกับเด็ก

แม้จะเข้าใจในเจตนาดีของคนที่รักและเอ็นดูลูก แต่ผู้ใหญ่บางคนมักใช้สิทธิ์ความคุ้นเคยขออุ้ม กอด หอมแก้ม และรบเร้าให้ลูกตอบสนองในลักษณะเดียวกัน

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ บอกให้คนที่จะเข้ามาว่าหากต้องการให้ลูกทำอะไร ต้องขออนุญาตและถามความเต็มใจของลูกก่อน เช่น ขอหอมแก้มได้ไหมคะ หรือขอถ่ายรูปด้วยกันได้ไหมคะ และไม่ว่าลูกจะตอบรับอย่างไร ก็ขอให้เคารพการตัดสินใจของลูกเสมอ

4. ไม่วิจารณ์หน้าตาและนิสัยของเด็ก

อยากเล่นกับเด็ก

ผู้ใหญ่ที่จะเข้ามาเล่นกับเด็ก ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์บุคลิก ลักษณะ หรือหน้าตาของเด็ก เช่น ทำไมหนูอ้วนอย่างนี้, ผิวดำจังเลยลูก เพราะนอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตัวเองแล้ว การตำหนิพฤติกรรมหรือนิสัยของเด็ก  เช่น ทำไมขี้กลัวอย่างนี้ จะทำให้เด็กรู้สึกอับอาย และไม่ชอบการพบปะคนแปลกหน้ามากขึ้น

 

— อ่านบทความ: 4 เทคนิค เข้าหาและเล่นกับเด็ก ให้คุณพ่อคุณแม่ของเด็กแฮปปี้
อ้างอิง
thaichildcare
todaysparent

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST