READING

อยากให้ลูกมี EF : รู้จัก Executive Functions และ 5...

อยากให้ลูกมี EF : รู้จัก Executive Functions และ 5 พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็ก EF ต่ำ

อยากให้ลูกมี EF

Executive Functions (EF) คือทักษะทางความคิด หรือกระบวนการทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การควบคุมอารมณ์ การตั้งเป้าหมาย การยับยั้งชั่งใจ การวางแผน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อทั้งความสำเร็จในการเรียน การทำงาน รวมทั้งการมีชีวิตครอบครัว

เวลาที่คุณพ่อคุณแม่เห็นลูกร้องไห้โวยวาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หรือขาดความยับยั้งชั่งใจ เห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่สามารถทำให้ลูกระงับอารมณ์ของตัวเองได้ นั่นคือพฤติกรรมที่แสดงถึงความเป็นเด็ก EF ต่ำ และจัดการความคิดตัวเองไม่ได้

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ อยากให้ลูกมี EF เพราะนักวิชาการระดับโลกต่างให้ความเห็นว่า การมี EF นั้น สำคัญกว่า IQ (Intelligence Quotient) ด้วยซ้ำ

Executive Functions ประกอบด้วยทักษะ 9 ด้าน ได้แก่

1. Working Memory การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

2. Inhibitory Control การยั้งคิด และความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3. Cognitive Flexibility การยืดหยุ่นความคิด สามารถปรับเปลี่ยนหรือพลิกแพลงความคิดให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้

4. Attention การจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่วอกแวก

5. Emotional Control การควบคุมอารมณ์

6. Planning and Organizing การวางแผนและการจัดระบบ

7. Self-Monitoring การรู้จักประเมินตนเอง

8. Initiating การริเริ่มและลงมือทำด้วยตนเอง

9. Goal-Directed Persistence ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย พร้อมฟันฝ่าอุปสรรค

ทั้งนี้ งานวิจัยเผยว่า ช่วงวัย 3-6 ปี หรือช่วงก่อนวัยเรียน เป็นช่วงเวลาที่สมองจะมีการพัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุด และพฤติกรรมการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะ EF ของลูกเป็นอย่างมาก

หากคุณพ่อคุณแม่กำลังสงสัยว่าพฤติกรรมและการเลี้ยงดูของตัวเองมีส่วนทำให้ลูกขาดทักษะ EF อยู่หรือไม่ M.O.M มีคำตอบค่ะ

1. พ่อแม่ไม่รับฟังความคิดเห็นลูก

อยากให้ลูกมี EF

การเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเป็นการส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของลูก ก็จะทำให้ลูกเป็นเด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์และการวางแผน

สิ่งที่ควรทำก็คือ พยายามรับฟัง แม้บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของลูก แต่การตอบกลับเชิงตั้งคำถามหรือให้คำแนะนำแทนการปฏิเสธหรือตำหนิทันที ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า เช่น ลูกขอเปลี่ยนเมนูผัก เป็นอาหารอื่น แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะปฏิเสธ ลองเปลี่ยนเป็นอธิบายถึงประโยชน์ของผัก แล้วจึงหาข้อสรุปร่วมกัน ด้วยการปรับเมนูผักให้รสชาติดี กินง่าย หรือต่อรองลดเมนูผักลง เหลือแค่วันละหนึ่งมื้อเท่านั้น

2. พ่อแม่ขี้โมโห

อยากให้ลูกมี EF

การสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้อบอุ่น ไม่เป็นพิษต่อลูกจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะ EF ของลูกได้เป็นอย่างดี ลองสังเกตว่า หากคุณพ่อคุณแม่แสดงอารมณ์เชิงลบให้ลูกเห็นบ่อยๆ แม้จะไม่ได้ตั้งใจส่งอารมณ์ร้ายกับลูกโดยตรง แต่อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ก็จะส่งผลให้ลูกเกิดความเครียด และมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองต่ำลงได้ เพราะการซึมซึบพฤติกรรมมาจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

3. พ่อแม่ขี้กลัว

อยากให้ลูกมี EF

ความกลัวของคุณพ่อคุณแม่มักเกิดจากความระแวดระวังและความเป็นห่วงลูกมากเกินไป ทำให้ไม่กล้าเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับความผิดหวังเสียใจ แต่การปกป้องลูกจากความผิดพลาดมากเกินไป ในอีกด้านก็เหมือนการปิดกั้นลูกจากการเรียนรู้ ทำให้ลูกขาดทักษะการแก้ปัญหา ขาดความยืดหยุ่นทางความคิด ไม่สามารถปรับเปลี่ยนความคิดตามสถานการณ์ และกลัวที่จะต้องรับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตเช่นกัน

4. พ่อแม่ชอบตามใจลูก

อยากให้ลูกมี EF

คุณพ่อคุณแม่ต่างก็อยากหยิบยื่นสิ่งดีๆ และทำให้ลูกมีความสุข แต่การตามใจลูกโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล กลับกลายเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ขาดทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะเคยชินกับการเป็นที่สนใจของคุณพ่อคุณแม่ จนมองข้ามการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของคนรอบข้าง

5. พ่อแม่ยุ่งกับงาน จนไม่มีเวลาให้ลูก

อยากให้ลูกมี EF

การใช้เวลาคุณภาพกับลูกเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนากระบวนการทางความคิดอย่างเป็นระบบของลูก เพราะการพัฒนาทักษะการคิดของลูกวัยก่อนเรียนมักเกิดขึ้นจากการตอบโต้และการทำกิจกรรมร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แบ่งเวลา หรือไม่เคยมีเวลาที่มีคุณภาพกับลูก อาจทำให้ลูกเสียโอกาสการฝึกฝนความคิดและขาดทักษะการเข้าสังคมได้

       คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก เช่น เล่นเกมคำใบ้จากภาพ เกมต่อบล็อกเรขาคณิต นอกจากจะช่วยให้ลูกได้ฝึกใช้ความคิด เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา และยังเป็นการส่งเสริมสมาธิให้ลูกอีกด้วย

อ้างอิง
Bangkok Hospital
Beyond Booksmart
Harvard University

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST