READING

5 เทคนิค รับมือลูกดื้อ ฉบับคุณพ่อคุณแม่หัวร้อน...

5 เทคนิค รับมือลูกดื้อ ฉบับคุณพ่อคุณแม่หัวร้อน

stubborn kids

“ลูกดื้อมากทำไงดี พูดดีด้วยก็แล้ว ดุก็แล้ว โมโหก็แล้ว ลูกก็ยังไม่เชื่อฟังสักที”

เมื่อต้องเจอสถานการณ์ที่ลูกดื้อมาก ซนมาก พูดก็ไม่เชื่อ ห้ามก็ไม่ฟัง คุณพ่อคุณแม่ที่พยายามอดทนและใจเย็นมานาน ก็เริ่มมีอารมณ์โกรธและหัวร้อน จรเผลอใช้อารมณ์และวิธีการรุนแรงเพื่อที่จะเอาชนะและหยุดความดื้อของลูกลงให้ได้

แต่การใช้อารมณ์โต้ตอบความดื้อของลูก ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องนัก ไม่เพียงเพราะอาจจะหยุดความดื้อของลูกได้ชั่วคราว ยังทำร้ายจิตใจลูก ทำลายบรรยากาศ และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว

ดังนั้น เรามารวบรวมสติแล้วหาวิธีรับมือกับความดื้อของลูก ไปพร้อมกับระงับความโกรธของตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาด้วยความใจเย็น ลดการกระทบกระทั่ง และได้ผลในระยะยาวกันดีกว่าค่ะ

1. หายใจเข้าลึกๆ และตั้งสติ

stubborn kids

ถึงแม้ว่าจะรู้สึกโกรธลูกมากแค่ไหน แต่สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ หายใจเข้าลึกๆ ตั้งสติ และทบทวนความรู้สึกตัวเองว่ากำลังมีความโกรธ จึงไม่ควรพูดหรือใช้อารมณ์ในเวลานั้น อาจจะแก้ปัญหาด้วยการนับ 1-10 ในใจ หรือเดินไประงับอารมณ์ให้ห่างจากลูกสักพัก แล้วค่อยเดินกลับมาหาลูกเมื่อใจเย็นพอลงแล้วก็ได้นะคะ

2. ขอเวลาและบอกให้ลูกรู้ว่าเรากำลังโกรธ

stubborn kids

คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกความรู้สึกของตัวเองให้ลูกเข้าใจได้ เช่น แทนที่จะใช้อารมณ์ดุหรือตะคอกลูกทันทีที่โมโห คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้วิธีบอกลูกตามตรงว่า กำลังโกรธและไม่พอใจมากที่ลูกไม่เชื่อฟัง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะขอเวลาไประงับสติอารมณ์ของตัวเองให้ใจเย็นลงก่อน แล้วจะกลับมาหาลูกอีกที

การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกรับรู้อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น และเรียนรู้วิธีรับมือกับความโกรธของตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบ และเมื่อไหร่ที่สภาพจิตใจและอารมณ์พร้อม ค่อยกลับมาอธิบายและพูดคุยกับลูกดีๆ ก็ไม่สายเกินไปค่ะ

3. สำรวจและมีวิธีผ่อนคลายตัวเอง

stubborn kids

คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่ใช่คนหัวร้อนหรือหงุดหงิดง่าย แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่อันยุ่งเหยิง งานก็รัดตัว ต้องรับผิดชอบอะไรอีกตั้งมาก หันมาเจอลูกดื้อเพียงนิดเดียวก็อาจทำให้สติอารมณ์ที่ตึงเครียดมาทั้งวันขาดผึงได้โดยง่าย

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสำรวจตัวเองว่าช่วงนี้เครียดหรือเหนื่อยมากเกินไป จนทำให้หงุดหงิดหัวร้อนได้ง่ายกว่าปกติหรือไม่ ถ้าใช่แล้วละก็ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้วิธีที่จะเยียวยาจิตใจและผ่อนคลายตัวเองจากความเครียดเสียบ้าง เมื่อคุณพ่อคุณแม่สุขภาพจิตดี ก็จะไม่ระเบิดอารมณ์ใส่ลูกได้ง่ายเกินไปค่ะ

4. ให้อภัยทั้งลูกและตัวเอง

stubborn kids

การลดความโกรธและความคับข้องใจของตัวเองลงได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักให้อภัย โดยเฉพาะกับลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่าการดื้อ เอาแต่ใจ ซน งอแง หรือแม้แต่การอาละวาดของลูก ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กทุกคน ดังนั้นการคาดหวังให้ลูกเชื่อฟังทุกครั้งหรือได้ดั่งใจคุณพ่อคุณแม่ทุกอย่างจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

เมื่อเข้าใจอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่จะรู้ว่าไม่ใช่ความผิดของตัวเองที่เลี้ยงลูกไม่ดี และไม่ใช่ความผิดของลูกที่ดื้อหรือซนไปบ้าง แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาเรียนรู้ ดังนั้นเราจะต้องให้อภัย ไม่โทษว่าเป็นความผิดของลูกหรือของตัวเอง ให้โอกาสตัวเองและลูกแก้ไขไปด้วยกันนะคะ

5. มองโลกในแง่ดี

stubborn kids

บางครั้งความโกรธของคุณพ่อคุณแม่ก็มาจากความวิตกกังวลและเป็นห่วงลูกมาก เช่น ตกใจและกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับลูก จึงเผลอระเบิดอารมณ์ออกมาด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อใจเย็นลงก็พบว่า ลูกไม่ได้ดื้อหรือทำผิดร้ายแรงอะไรเลย เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลและมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไปเท่านั้น

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่าเป็นคนวิตกกังวลหวาดระแวง และมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าใช่ ลองเปลี่ยนจากการนึกถึงเรื่องร้ายๆ เป็นการมองโลกในแง่ดี ไม่วิตกกังวลจนขาดสติไปล่วงหน้า แล้วอาการหัวร้อนก็จะดีขึ้น

อ้างอิง
medicalnewstoday
apa

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST