READING

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า (Generation Alpha) : กับ 4 ข้อที...

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า (Generation Alpha) : กับ 4 ข้อที่ควรรู้จักและเข้าใจ เพื่อรับมือเจนฯ อัจฉริยะ

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า

Generation Alpha หรือ เจนฯ อัลฟ่าคือเด็กที่เกิดหลัง พ.ศ.2553 หรือ ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา นั่นหมายถึงเด็กๆ ที่อายุ 12 ปีและต่ำกว่า ที่เราเห็นในปัจจุบัน ล้วนเป็นบุคลากรแห่ง เจเนอเรชั่นอัลฟ่า ทั้งสิ้น

คุณสมบัติเด่นของเด็กๆ เจนฯ อัลฟ่า ก็คือการเกิดมาโดยมีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิต จึงสามารถเรียนรู้ คุ้นเคย และมีทักษะในการเข้าถึงข้อมูลและติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีได้คล่องแคล่วกว่าเจเนอเรชั่นอื่นๆ

Wired Consulting องค์กรพัฒนานวัตกรรมและสื่อดิจิทัล ประเทศออสเตรเลีย เผยในงานวิจัย Understanding Generation Alpha ไว้ว่า เทคโนโลยีจะกลายเป็นตัวกลางหลักที่ช่วยให้เด็ก เจเนอเรชั่นอัลฟ่า ได้เรียนรู้และสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างไร้พรมแดน รวมถึงการพัฒนาของระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ทำให้มนุษย์สื่อสารกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่ายดายและแพร่หลายมากขึ้น เด็กเจนฯ อัลฟ่าจึงถูกยกให้เป็นเจเนอเรชั่นอัจฉริยะที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าการเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วจะช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองความคิดของลูกเจนฯ อัลฟ่ามากแค่ไหนก็ตาม แต่นักจิตวิทยาก็ยังพูดถึงข้อเสียบางอย่างของเด็กเจนฯ นี้ที่หากคุณพ่อคุณแม่ละเลยหรือมองข้าม ก็อาจทำให้ลูกขาดทักษะการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ที่สำคัญได้

ดังนั้นเราจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความรู้จักและเข้าใจลักษณะพื้นฐานที่พบได้มากในกลุ่มเด็กเจนฯ อัลฟ่า เพื่อเรียนรู้วิธีรับมือ และส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กฉลาดรอบด้าน ไม่ได้เก่งเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

1. สมาธิสั้นและหลุดโฟกัสง่าย

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า

จุดเด่นของเด็กเจนฯ อัลฟ่า คือการรับข้อมูลข่าวสารที่มากมาย จากหลายแหล่งพร้อมกัน จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะการอ่านแบบ Scanning หรือการกวาดสายตาอ่านคร่าวๆ และสเเกนเฉพาะคำสำคัญ เพื่อจะได้สามารถสรุปข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเป็นข้อดีที่ช่วยให้ลูกอ่านจับใจความได้เก่ง แต่ก็ทำให้ลูกติดนิสัยไม่ชอบหรือไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้เช่นกัน

คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างสมาธิให้ลูกเจนฯ อัลฟ่าได้จากกิจกรรมสนุกๆ เช่น เกมจับผิดภาพ การต่อจิ๊กซอว์ หรือการออกกำลังกาย ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการชวนลูกเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเลตที่ลูกคุ้นเคย  แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นเกมการ์ดหรือกิจกรรมนอกจอ เพื่อให้ลูกได้ใช้เวลาคุณภาพกับคุณพ่อคุณแม่ และออกห่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และหน้าจอไปในตัวด้วย

2. ไม่ค่อยเข้าสังคม

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า

นักวิจัยเผยว่า ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดการเติบโตของเด็กเจนฯ อัลฟ่า รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเรียนออนไลน์ และการติดต่อสื่อสารแบบไม่พบปะกันในโลกความจริง กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กเจเนอเรชั่นนี้

เจนฯ อัลฟ่า มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ จึงทำให้มีเวลาในการเรียนรู้ การเล่น และการเข้าสังคมในรูปแบบดั้งเดิมน้อยลง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมทักษะการเข้าสังคมให้ลูก ด้วยการพาลูกออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน พาลูกทำกิจกรรมร่วมกับเด็กอื่นๆ ชวนลูกคุยด้วยการตั้งคำถามปลายเปิด เพื่อฝึกทักษะการสื่อสาร การพูด และสอนวิธีปฏิบัติตัวและมารยาทพื้นฐาน การเพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีการปรับตัวเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมต่อไป

3. พัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการต่ำ

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า

แม้ทักษะการใช้เหตุผลของลูกเจนฯ อัลฟ่าจะพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว แต่ด้วยการใช้ชีวิตที่อยู่กับเทคโนโลยีเป็นส่วนมาก ก็อาจทำให้ลูกเสียโอกาสในการหยิบจับของเล่นเสริมทักษะและพัฒนาการเด็กขึ้นมาเล่น ส่งผลให้ลูกอาจไม่ได้รับการฝึกให้เล่นด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการตามธรรมชาติเท่าที่ควร

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นหรือเข้มงวดกับการเล่นของลูกเกินไปนัก แต่ควรทำความเข้าใจในทักษะเฉพาะของเด็กเจเนอเรชั่นนี้ และหาวิธีส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูก เช่น โดยปกติเด็กเจนฯ อัลฟ่าจะมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว แต่การชวนลูกฝึกแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกรู้จักพลิกแพลงความคิดเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกได้อีกด้วย

4. มีความสุขยาก 

เจเนอเรชั่นอัลฟ่า

Jean M. Twenge นักจิตวิทยาเจ้าของผลงาน iGen กล่าวไว้ว่า เมื่อเด็กมีความเชื่อมโยงกับสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้การติดต่อสื่อสารและการรับข้อมูลต่างๆ ทำได้ง่าย แต่ในทางกลับกัน อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นกับเด็กเจนฯ อัลฟ่า ก็เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยลูกไว้กับเทคโนโลยีและการเชื่อมตัวเองกับสังคมในอินเทอร์เน็ตมากเกินไป แต่ควรหาเวลาพูดคุยและปรับทุกข์กับลูกบ้าง อาจจะใช้ช่วงเวลาระหว่างเดินทางกลับบ้าน หรือตอนกินข้าวเย็น เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดคุย บอกเล่า และแชร์ประสบการณ์ของตัวเองกับคุณพ่อคุณแม่ ก็จะช่วยส่งเสริมการสร้างความไว้วางใจ ความอบอุ่น และความรู้สึกมั่นคงในจิตใจให้ลูกได้ดีเลยทีเดียว

 

อ่านบทความ: 4 เทคนิคเลี้ยงลูก เจนฯ อัลฟ่า (Generation Alpha) ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม
อ้างอิง
IBERDROLA
India today
iSTRONG

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST