READING

ไวรัส RSV: แชร์ประสบการณ์ความร้ายกาจของไวรัส RSV ...

ไวรัส RSV: แชร์ประสบการณ์ความร้ายกาจของไวรัส RSV ที่ทำให้ลูกวัยสามขวบครึ่งต้องแอดมิตทันที!

ไวรัส RSV

เมื่อลูกไม่สบาย มีน้ำมูก เป็นไข้ และมีอาการไอ สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่นึกถึงก็คือ คงจะเป็นไข้หวัดธรรมดา และสามารถรักษาตามอาการเองได้ เช่น เมื่อมีไข้ก็ต้องกินยาลดไข้ และเช็ดตัวบ่อยๆ หากมีน้ำมูกให้ล้างจมูกเช้าเย็น หรือมีอาการไอแบบมีเสมหะ ให้ลูกจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ งดไปโรงเรียนและพักผ่อนให้เพียงพอ สัก 2-3 วันอาการก็จะดีขึ้นเองได้

แต่หากอาการเหล่านั้น ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่ป็นแค่จุดเริ่มต้นของ ‘โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV’ โรคติดต่อในเด็กที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องกุมขมับ

เชื้อไวรัส RSV คืออะไร

RSV_1

ไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus คือไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจที่พบมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยไวรัสจะทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ภาวะปอดอักเสบ อาจรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

แต่ที่น่ากลัวที่สุดสำหรับพ่อแม่ก็คือ ไวรัส RSV สามารถติดต่อได้ง่าย ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่เชื้อ และสามารถส่งต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา หู จมูก ปาก ซึ่งสำหรับเด็กในวัยอนุบาล ก็เป็นเรื่องที่ยากจะควบคุมและป้องกันให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้

อาการแรกเริ่ม

RSV_2

ลูกชายวัยสามขวบครึ่งของเรา มีอาการแรกเริ่มเหมือนตอนที่เป็นภูมิแพ้อากาศ คือ มีน้ำมูกและไอ ต่างกันตรงที่ครั้งนี้ ลูกมีไข้ต่ำๆ อยู่สองวัน แต่ก็ยังคงกินเก่งเหมือนเดิม ร่าเริง และวิ่งเล่นได้ตามปกติ

จนเข้าวันที่สาม ลูกยังคงกินข้าวได้ ร่าเริง ไม่เซื่องซึม แต่ไข้ขึ้นสูง วัดได้ 38.6 องศาเซลเซียส… (แม่เริ่มไม่สบายใจมากแล้ว) หลังจากกินยาและเช็ดตัวเรียบร้อยจนไข้ลด ก็เลยตัดสินใจพาลูกไปโรงพยาบาล คุณหมอฟังเสียงปอดของลูกแล้วพบอาการหอบเล็กน้อย จึงส่งตัวไปเอ็กซ์เรย์ปอด และตรวจหาไวรัส RSV ด้วยการแยงจมูกเหมือนการตรวจโควิด-19 และพ่นยาขยายหลอดลมระหว่างรอผล

แล้วก็เรียบร้อย ผลตรวจเป็น Positive คุณหมอระบุอาการว่า ‘หลอดลมอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV’ ต้องแอดมิตเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสลงปอด จนเกิดปอดอักเสบหรือปอดบวมได้

คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ปีนี้ไวรัส RSV ใจร้ายกับเด็กมากกว่าโควิด และรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา คงเป็นเพราะที่ผ่านมา การป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ มีส่วนช่วยลดการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ไปด้วย

และที่สำคัญก็คือ ในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนและไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ จึงต้องรักษาตามอาการและเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

ถึงแม้คุณหมอจะแนะนำให้ให้แอดมิต แต่ด้วยความชะล่าใจ เราจึงขอพาลูกกลับไปรักษาและดูอาการบ้าน เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาลูกไม่ซึม ยังกินได้ วิ่งเล่นได้ และไข้ก็เริ่มลดลงแล้ว ทีแรกคุณหมอปฏิเสธ แต่สุดท้ายก็ยอมจ่ายยา และนัดให้มาพ่นยาที่โรงพยาบาลทุกวันแทน

สุดท้ายต้องกลับมาแอดมิต

RSV_3

สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อกลางดึกลูกไข้ขึ้นสูงอีกครั้ง ต้องเช็ดตัวเพื่อลดไข้กันทั้งคืน จนเช้าวันต่อมา แม่วัดไข้ลูกได้ 37.1 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกและเริ่มไอเป็นชุดๆ ห่างกันเป็นช่วงๆ แต่ทั้งวันนั้นลูกก็ยังร่าเริงตามปกติ

จนกระทั่งกลางคืน ลูกกลับมาไข้ขึ้นสูง ไอโขลกๆ จนตัวเองตื่น และไอจนอาเจียน หายใจแรง และลูกเริ่มบ่นว่ารู้สึกเหนื่อยเป็นระยะ

เข้าสู่เช้าวันที่ห้านับจากเริ่มมีอาการ ก็เป็นวันที่อาการลูกทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าไข้ลดแล้ว แต่ลูกก็เหนื่อยมากจนไม่อยากลุกขึ้นนั่ง อยากนอนตลอดเวลา และที่สำคัญคือ ไม่ยอมกินอะไรเลย สัญญาณไม่ดีแบบนี้ จึงพาลูกกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง

วันนี้ในแผนกเด็ก มีแต่เสียงร้องระงม ผสมเสียงไอเป็นพักๆ คุณพยาบาลเล่าให้ฟังว่า เด็กที่มาในวันนี้จำนวน 4 ใน 5 คน ก็ติดเชื้อ RSV ต้องแอดมิตที่โรงพยาบาลทันที และลูกชายเราก็เป็นหนึ่งในนั้น

สิ่งแรกที่ลูกต้องเจ็บตัวแน่นอน คือ เจาะเส้นเลือดบริเวณหลังมือเพื่อติดสายฉีดยา ตามด้วยแยงจมูกตรวจโควิด-19 อีกครั้ง และเมื่อขึ้นหอผู้ป่วย เจ้าหน้าที่พยาบาลจึงอธิบายการรักษาในเบื้องต้นให้ฟังว่า จะต้องพ่นยาทุก 4 ชั่วโมง ยกเว้นหลังเที่ยงคืน เพื่อให้เด็กได้พักผ่อน และจะต้องฉีดยาทุก 6 ชั่วโมง รวมไปถึงการเคาะปอด จากนักกายภาพ วันละ 1-2 ครั้ง

เช้าวันที่หก ลูกงอแงและนอนบ่อยขึ้น ดูเชื่องช้าและยังคงเหนื่อยเป็นพักๆ คุณหมอบอกว่า อาการเหล่านี้คือ ช่วงสูงสุดของโรคที่จะทำให้เด็กรู้สึกเหนื่อยและไม่มีแรง บางรายก็ต้องใส่สายน้ำเกลือเพราะไม่ยอมกินอาหารแต่ลูกชาย ยังคงกินได้ จึงไม่ต้องให้น้ำเกลือ แต่ก็ต้องฉีดยาผ่านสายฉีดยาอยู่ดี

ระหว่างวันและกลางคืน พยาบาลจะเข้ามาวัดไข้ และวัดระดับออกซิเจนในเลือดอย่างสม่ำเสมอ โชคดีที่ลูกไม่มีไข้แล้ว ค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ในระดับปกติ คือ 96 และไม่ควรต่ำกว่านี้ เพราะจะเกิดภาวะพร่องออกซิเจน ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย

การพ่นยา การเคาะปอด และความหวาดกลัว

RSV_4

    เพราะลูกหายใจเร็ว มีเสียงวี้ดในอก และไอมาก บวกกับได้รับการวินิจฉัยว่าหลอดลมอักเสบ จึงต้องพ่นยาเพื่อช่วยขยายหลอดลม ผ่านการใช้ออกซิเจนพ่นน้ำยาให้แตกตัวออกมาเป็นละอองเล็กๆ เหมือนควัน เพื่อให้สูดดมเข้าไปได้ง่าย ก็จะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ทำให้เสมหะหรือน้ำมูกอ่อนตัวลง สามารถขับออกมาได้ง่ายด้วยการไอ หรือ ขากเสมหะออกมา โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง

ส่วนการเคาะปอด นักกายภาพบำบัด อธิบายว่า เป็นการทำให้เสมหะที่ติดอยู่คอย้อนกลับขึ้นมา ไม่ให้ไหลลงไปที่ปอด เสียงเคาะด้วยฝ่ามือที่ดังปุกๆ ไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บ และอาจจะรู้สึกสบาย เพราะรู้สึกโล่งคอ ตามด้วยการใช้อุปกรณ์สั่นปอด สำหรับเรา ลูกจบที่การล้างจมูก เพื่อช่วยระบายเสมหะให้ได้ดียิ่งขึ้น

ลูกต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งหมด 4 คืน เป็นช่วงเวลาที่ลูกจะติดแม่มากเป็นพิเศษ ต้องคอยกอดและอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา คุณพยาบาลบอกว่า เด็กป่วยทุกคนจะติดแม่เพราะแม่คือความปลอดภัยที่สุดในชีวิต ดังนั้นคุณแม่ต้องระวังว่าจะป่วยตามไปด้วย แต่การมีแม่คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ในเวลาที่เจ็บป่วย ก็จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มั่นคง และคลายความกังวลอื่นๆ ไปได้

ติดตามอาการและกินยาต่อที่บ้าน

RSV_5

   เช้าวันสุดท้ายในโรงพยาบาล ลูกชายกลับมาสดใสร่าเริง กินเก่ง วิ่งเล่น จนลืมไปว่าตัวเองยังไม่หายดี คุณหมอแจ้งว่า ฟังเสียงปอดแล้วใสกริ๊ง กลับบ้านได้แล้ว แต่ยังต้องกินยาต่อเนื่องจนกว่าจะไม่ไข้ ไม่มีน้ำมูก ในขณะที่อาการไอจะต้องใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์ถึงจะดีขึ้น แต่หากไข้ขึ้นสูง หรือมีอาการเหนื่อยหอบ ให้มาโรงพยาบาลในทันที

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเป็นกังวลว่า ลูกจะติดเชื้อไวรัส RSV หรือพบว่าลูก มีอาการไข้ขึ้นสูง เหนื่อยหอบ หายใจแรง ซึมลง ไม่ยอมกินตามปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยโรคทันทีนะคะ


Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST