READING

ไม่ใช่แค่โรคสมาธิสั้นที่น่าเป็นห่วง เพราะมันมักจะพ...

ไม่ใช่แค่โรคสมาธิสั้นที่น่าเป็นห่วง เพราะมันมักจะพ่วงมาด้วย 3 โรคนี้

ด้วยสภาพสังคมและวิธีการเลี้ยงดูในปัจจุบัน ทำให้โรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เข้ามาเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ต้องกังวลใจ

หากคุณหมอเคยวินิจฉัยว่าลูกของคุณเป็นโรคสมาธิสั้น หรือคุณพ่อคุณแม่กำลังสงสัยว่าลูกมีอาการของโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า ลองสังเกตพฤติกรรมอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกควบคู่กันไปด้วยก็ได้ เพราะไม่ใช่แค่โรคสมาธิสั้นเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง แต่มันอาจจะพ่วงความผิดปกติทางพัฒนาการซึ่งเป็นอาการของทางจิตเวชอีก 3 โรค ดังนี้

1. โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder: LD)

3diseases_web_1

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดภาวะบกพร่องในกระบวนการเรียนรู้ แสดงอาการออกมาให้เห็นทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพจริง

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้เป็นโรคที่สามารถเกิดร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ และมีโอกาสเกิดร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ถึงร้อยละ 40-50

แต่หากผู้ป่วยได้รับยารักษาโรคสมาธิสั้น อาการของโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ก็จะทุเลาลงไปด้วย

วิธีสังเกตอาการจากโรคบกพร่องทางการเรียนรู้

1. ความบกพร่องด้านการอ่าน

– เด็กไม่สามารถจดจำพยัญชนะ สระ ตัวสะกด และขาดทักษะในการสะกดคำ

– อ่านออกเสียงไม่ชัด

– ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้

– อ่านข้าม เพิ่มคำ ลดคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้

– อ่านกลับคำหรือสลับที่คำ เช่น เพลา อ่านเป็น ลาเพ

– อ่านคำควบกล้ำไม่ออก

– อ่านโดยการเดาจากภาพหรือแทนที่คำอ่านด้วยคำอื่น

– แสดงอาการหงุดหงิด กังวล ไม่สบายใจระหว่างการอ่าน จนหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหามากๆ

2. ความบกพร่องด้านการเขียน

– เด็กเขียนพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง เรียงลำดับอักษรผิด วางสระหรือวรรณยุกต์ผิดตำแหน่ง

– เขียนหนังสือช้า เพราะกลัวสะกดผิด

– เขียนตัวหนังสือกลับด้าน เหมือนภาพสะท้อนจากกระจกเงา หรือเขียนตัวอักษรสลับด้าน เช่น ถ เป็น ภ หรือ พ เป็น ผ

– เขียนตัวหนังสือสลับที่กัน เช่น กลัว เป็น กวัล

– เขียนตามเสียงที่อ่าน เช่น  กาญจนบุรี เป็น กาจนะบุรี

– เขียนไม่ตรงบรรทัด ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ไม่เว้นขอบ ไม่เว้นช่องไฟ

– เขียนได้แค่ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ และใช้คำเดิม สื่อความหมายผ่านการเขียนได้ไม่ดี เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ทำให้เขียนแล้วลบ ไม่มั่นใจในสิ่งที่เขียน จนในที่สุดหลีกเลี่ยงการเขียน

3. ความบกพร่องด้านการคำนวณ

– ความสามารถด้านการคำนวณด้อยกว่าเด็กคนอื่นในชั้นเรียนอย่างมาก

– คิดเลขช้ามาก

– ไม่เข้าใจวิธีการบวก ลบ คูณ หาร หรือการใช้คำนวณสูตรต่างๆ ไปจนถึงหลักการยืมการทดเลข

– ไม่รู้ว่าเลขใดมีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน

– คิดเลขตกหล่น ผิดพลาด สะเพร่า

– สับสนและไม่เข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ เช่น > หรือ <

– มีปัญหาในการคิดเลขในใจ

– ตีโจทย์ปัญหาเลขไม่ออก

– ไม่เข้าใจเรื่องเวลา ดูนาฬิกาไม่เป็น

– มีปัญหาในเรื่องของการชั่ง ตวง วัด และการนับเงิน ทอนเงิน

2. โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s Disorder) หรือ (Tic Disorder)

3diseases_web_2

โรคทูเร็ตต์ เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนาระบบประสาททำให้การเคลื่อนไหว หรือการส่งเสียงที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ในลักษณะซ้ำๆ และไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ อาการแบบนี้เรียกว่า ‘ติ๊ก’ (Tic)

และเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีโอกาสเป็นโรคทูเร็ตต์ควบคู่กันไปด้วยถึงร้อยละ 40

วิธีสังเกตว่าจะเด็กเป็นโรคทูเร็ตต์หรือโรคติ๊กหรือไม่ มีดังต่อไปนี้

อาการด้านการเคลื่อนไหว (Motor Tic) 

– ตาขยิบ

– หน้าขมุบขมิบ

– บิดคอ

– ยักไหล่สะบัดมือ

– ต่อย

– เตะ

– กระโดด

อาการด้านการส่งเสียง (Vocal Tic)

– ทำเสียงขากเสลด

– ทำเสียงฟึดฟัดคัดจมูก

– ไอกระแอม

– เสียงคราง

– เสียงเห่า

– พูดคำหยาบคาย

อาการมักเป็นๆ หายๆ อาจเป็นได้หลายครั้งต่อวัน และหายไปหลายวันแล้วกลับมาเป็นใหม่อาการจะลดลงหรือหายไปในเวลานอนหลับ โดยอาการมีการเปลี่ยนลักษณะไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลา

3. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder: OCD)

3diseases_web_3

โรคย้ำคิดย้ำเป็นภาวะวิตกกังวลอย่างหนึ่ง เกิดจากบางส่วนของสมองทำงานมากกว่าปกติหรือสมองส่วนหน้าและสมองส่วนกลางทำงานประสานกันผิดปกติ

ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีโอกาสเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำควบคู่กันไปด้วยถึงร้อยละ 25-50

เด็กที่ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำจะแสดงอาการได้ 2 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

1. อาการย้ำคิด คือ เด็กมีความคิดวิตกกังวลและกลัวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็จินตนาการไปเองว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ถึงจะรู้อยู่แก่ใจก็ตามว่าสิ่งที่คิด สิ่งที่กังวลนั้นไร้สาระ ไม่มีเหตุ แต่ไม่สามารถหยุดความคิดนั้นได้
ตัวอย่างอาการย้ำคิด เช่น คิดว่าลืมล็อกประตูบ้าน ลืมปิดเตาแก๊ส กลัวความสกปรกหรือกลัวการสัมผัสสิ่งของหรือตัวผู้อื่น ไม่สบายใจเวลาเห็นของไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นหมวดหมู่

2. อาการย้ำทำ คือ เด็กตอบสนองความกังวลด้วยการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ลดความไม่สบายใจหรือความกลัวโดยไม่สามารถหยุดการกระทำของตัวเองได้ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างอาการย้ำทำ เช่น คอยตรวจเช็กประตูบ้านหรือเตาแก๊สซ้ำไปมา ล้างมือหรืออาบน้ำบ่อยเกินไป จัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ แยกเป็นหมวดหมู่ หันไปทางเดียวกันอยู่เสมอ

จะเห็นได้ว่าอาการทั้งสองมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อาการย้ำคิดเป็นอาการทางด้านความวิตกกังวล อาการย้ำทำคือ การตอบสนองอาการย้ำคิดเพื่อให้เกิดความสบายใจ

วิธีช่วยพ่อแม่สังเกตว่าลูกเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้แก่

– เด็กชอบเช็กหรือตรวจสอบอะไรซ้ำๆ จนส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรอื่นในชีวิตประจำวัน

– ทำความสะอาดร่างกายซ้ำๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะย้ำคิดในเรื่องของความสะอาดหรือเชื้อโรค หากรู้สึกว่ามือไม่สะอาด จะล้างซ้ำๆ วันละ 20-30 รอบจนมือเปื่อยมีแผล หรือบางคนอาบน้ำวันละ 4-5 รอบ และถ้าเสื้อผ้าหรือร่างกายถูกคนอื่นจะถอดออกไปซักทันที

– ชอบนับซ้ำๆ เวลาเจออะไรหรือทำอะไรแล้วต้องนับจำนวน นับซ้ำไปมาหลายรอบเพื่อให้มั่นใจว่าตนนับถูกแล้ว เช่น เจอกองปากกาวางบนโต๊ะ ก็ต้องนับว่ามีกี่แท่ง นับซ้ำๆ หลายๆ รอบเพื่อให้มั่นใจว่าจำนวนปากกาจะเท่ากันทุกครั้งที่นับ

– ทุกอย่างต้องเป๊ะ เป็นระเบียบเท่าๆ กัน ผู้ป่วยจะมีอาการคือทำอะไรก็ต้องให้ได้สมดุล เป็นระเบียบหรือให้ได้เท่ากัน เช่น เวลาวางช้อนส้อม ปลายช้อนส้อมต้องเท่ากับจาน วางตรงขนาบข้างจานด้วยระยะห่างที่เท่ากัน

 

 

 

อ้างอิง
โครงการความรู้สู่พ่อแม่และครูครั้งที่ 12 “เด็กสมาธิสั้นกับสังคมออนไลน์”
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิดี มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
National Center for Biotechnology Informationtps
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST