เด็กบางคนมีปัญหาด้านการฟัง ไม่สามารถรอฟังคุณพ่อคุณแม่พูดจนจบประโยคได้ บางคนแค่ให้นั่งนิ่งๆ คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ทันได้พูดอะไรด้วยซ้ำ ก็แสดงอาการผ่านสีหน้าและท่าทางให้รู้ว่าหนูเบื่อเต็มที่ และอยากออกไปวิ่งเล่นเต็มแก่แล้ว
แต่เพราะการฟังเป็นทักษะสำคัญ เป็นขั้นแรกของการเรียนรู้ทั้งในชีวิตประจำวันและในห้องเรียน การพัฒนาทักษะด้านการฟังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แหล่งกำเนิดเสียง น้ำเสียงสูงต่ำ และจังหวะการออกเสียง
M.O.M รวบรวมกิจกรรมที่จะพัฒนาทักษะด้านการฟังของลูกให้เป็นนักฟังที่ดี ดังนี้
1. กิจกรรมฟังสิ… นั่นเสียงอะไร!

กิจกรรมฝึกให้ลูกฟังเสียง ทำให้ลูกสามารถแยกความแตกต่างของเสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และเสียงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือสัตว์
วิธีการเล่น ให้ลูกหลับตาและทำให้วัตถุเกิดเสียง ยกตัวอย่างเช่น เสียงจากกระป๋อง เสียงจากนาฬิกา เสียงจากใบไม้ เสียงลม หรือเสียงร้องของแมว เป็นต้น จากนั้นให้ลูกเดาว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงที่เกิดจากอะไร และให้ลูกทำเสียงเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเป็นนักดนตรี อาจใช้เครื่องดนตรีมาเล่น
ยกตัวอย่างเช่น เสียงจากกลอง เสียงจากเปียโน หรือเสียงจากกีต้าร์ ทำให้ลูกได้เรียนรู้ความแตกต่างของเพลงโปรดที่ชื่นชอบ
สำหรับเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่อ่านเนื้อเพลงโปรดของลูก และเลือกคำศัพท์มาถามลูกได้ว่าคำนี้หมายถึงอะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร
2. กิจกรรมเล่านิทานด้วยน้ำเสียงสูงต่ำ

กิจกรรมนี้ช่วยให้ลูกฟังและแยกแยะความแตกต่างของอารมณ์คุณพ่อคุณแม่ผ่านโทนเสียงและน้ำเสียงที่ลูกได้ยิน ยกตัวอย่างเช่น เสียงโกรธ เสียงอารมณ์ดี เสียงเศร้า และเสียงดุ เป็นต้น
วิธีการเล่น คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานด้วยน้ำเสียงสูงต่ำ ตามบุคลิก นิสัย และอารมณ์ของตัวละคร และให้ลูกมีส่วนร่วมและสนุกไปกับนิทาน เช่น เมื่อถึงฉากที่สุนัขออกมา ให้ลูกทำเสียง ‘โฮ่ง โฮ่ง’
นอกจากนี้ระหว่างเล่านิทานคุณพ่อคุณแม่หยุดเล่า เพื่อถามคำถามลูกจากนิทานที่เล่า เพื่อทดสอบสมาธิในการฟัง และให้ลูกคิดตามไปกับเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เล่า
3. กิจกรรมมาเพิ่มคลังคำศัพท์กันเถอะ

กิจกรรมนี้พัฒนาทักษะด้านการฟังของลูกผ่านสื่อที่ลูกชื่นชอบ และยังได้ความรู้และคำศัพท์ใหม่ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน
วิธีการเล่น การ์ตูนหรือรายการโทรทัศน์เรื่องโปรดของลูก แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ดูผ่านๆ ลองหยิบคำศัพท์ใหม่ๆ ในเนื้อเรื่องขึ้นมา และให้ลูกเขียนคำศัพท์ที่ได้ยิน ทำให้ลูกรู้คำศัพท์เพิ่มและพัฒนาทักษะด้านการฟังด้วย
4. กิจกรรม เอ๊ะ… นี่มันรูปอะไร!

กิจกรรมนี้นอกจากจะพัฒนาทักษะด้านการฟังของลูกแล้ว ยังฝึกให้ลูกอธิบายรูปร่างและลักษณะของวัตถุต่างๆ
วิธีการเล่น คุณพ่อคุณแม่ให้เด็กสองคนนั่งหันหลังชนกัน จากนั้นเปิดรูปภาพให้เด็กที่นั่งฝั่งซ้ายดูและให้อธิบายลักษณะของวัตถุที่เห็น แต่ห้ามบอกชื่อของวัตถุนั้น ส่วนเด็กที่นั่งฝั่งขวาจะเขียนลักษณะของวัตถุตามที่ได้ยินจากเด็กที่นั่งฝั่งซ้ายพูดลงไปในกระดาษ และเดาว่าวัตถุชนิดนี้คืออะไร เมื่อเด็กที่นั่งฝั่งขวาทายถูกก็จะเล่นสลับให้เด็กที่นั่งฝั่งซ้ายเป็นคนทายบ้าง
เทคนิคที่จะช่วยให้ลูกฟังคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

นอกจากกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกฟังด้วยวิธีต่อไปนี้
- สอนให้ลูกฟัง อย่าพูดแทรก ขณะที่คุณพ่อคุณแม่พูด
- ขณะพูดให้นั่งอยู่ในระดับเดียวกันกับลูก
- พูดด้วยน้ำเสียงชัดเจน โดยเฉพาะเวลาให้คำแนะนำ สอน หรือออกคำสั่ง
- ขณะพูดกับลูก ให้ลดเสียงรบกวนรอบข้าง เช่น ลดเสียงโทรทัศน์
- เน้นย้ำสิ่งที่ต้องการให้ลูกจำ ยกตัวอย่างเช่น “ฟังสองสิ่งที่แม่จะให้ทำนะ อย่าลืมแปรงฟันและแปรงลิ้นด้วย” ให้เน้นย้ำคำว่า ‘แปรงฟัน’ และ ‘แปรงลิ้น’
- อย่าลืมกล่าวชื่นชมลูก เมื่อลูกเป็นเด็กดีทำตามที่คุณพ่อคุณแม่สอน
COMMENTS ARE OFF THIS POST