อาการท้องผูกคืออาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงอาการท้องผูกที่เกิดขึ้นในเด็ก เพราะการขับถ่ายของลูกคือหนึ่งในเครื่องชี้วัดสุขภาพและความปกติหรือไม่ปกติของร่างกายลูกในช่วงเวลานั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
เด็กที่มีอาการท้องผูก จะมีอาการปวดท้องเวลาที่ลำไส้มีการเคลื่อนไหว มีความผิดปกติทางพฤติกรรมการขับถ่าย เช่น ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และมักมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็งหรือบางครั้งมีเลือดปนอยู่
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการท้องผูก สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. ลูกชอบกลั้นอุจจาระ

การกลั้นอุจจาระส่งผลให้เด็กมีอาการท้องผูกตามมาได้ เนื่องจากเด็กๆ มักมีเหตุผลในการกลั้นอุจจาระด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ไม่อยากเข้าห้องน้ำนอกบ้าน กลัวการอยู่ในห้องน้ำคนเดียวนานๆ หรือแม้แต่ห่วงเล่น
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตหรือหมั่นถามลูกบ่อยๆ ว่าปวดท้องและอยากเข้าห้องน้ำหรือไม่ เพื่อที่จะได้ช่วยให้ลูกได้มีการขับถ่ายทุกวัน
2. ลูกถูกเปลี่ยนอาหารที่ไม่คุ้นเคย

การปรับเปลี่ยนอาหารของลูก ก็มีส่วนทำให้ลูกมีอาการท้องผูกได้ เช่น เดิมทีคุณแม่ให้ลูกกินอาหารเหลวต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเป็นอาหารแข็ง อาจทำให้ลูกท้องผูกได้ หรือการที่ลูกไม่ได้รับสารอาหารประเภทไฟเบอร์อย่างเพียงพอ การให้ลูกกินอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวมากเกินไป หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป ทั้งหมดก็เป็นพฤติกรรมที่ทำให้ลูกมีอาการท้องผูกได้เช่นกัน
3. การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

เด็กๆ ที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ต้องเดินทางไกล ต้องตื่นเช้ากว่าเดิมเพื่อไปโรงเรียน รวมทั้งการอยู่ในสถานที่ที่สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากที่ที่คุ้นเคย ก็อาจทำให้ลูกเกิดความเครียด ส่งผลต่อระบบขับถ่าย และมีอาการท้องผูกได้
4. ถูกบังคับให้ขับถ่ายเองในขณะที่ยังไม่พร้อม

คุณพ่อคุณแม่บางคนจะพยายามเร่งฝึกฝนให้ลูกหัดเข้าห้องน้ำและนั่งชักโครกด้วยตัวเอง แต่หากร่างกายและจิตใจลูกยังไม่พร้อมที่จะเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย อาจทำให้ลูกมีทัศนคติที่ไม่ดีกับการเข้าห้องน้ำ จนไม่อยากเข้าห้องน้ำ และสิ่งที่จะตามมาก็คือ การกลั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดอาการท้องผูกตามมานั่นเอง
COMMENTS ARE OFF THIS POST