คุณพ่อคุณแม่หลายคนเชื่อว่าการเลี้ยงดูที่ดีและถูกต้องตามหลักการที่เคยหาความรู้มา จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของลูกให้เป็นดังใจได้ แต่ความจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังประสบปัญหา ควบคุมลูกไม่ได้ หรือลูกมักจะทำอะไรที่เหนือความคาดหมายอยู่เสมอ
โดยเฉพาะเมื่อลูกน้อยเริ่มแสดงพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติหรือพฤติกรรมตามสัญชาตญาณของตัวเองออกมา เช่น การร้องไห้ การกัด พฤติกรรมก้าวร้าว อาละวาด ยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ เพราะต้องการและคาดหวังว่าจะสามารถควบคุมพฤติกรรมของลูกให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับว่าหลายพฤติกรรมของลูก ก็เป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ ทำความเข้าใจ และเรียนรู้พฤติกรรมเหล่านั้น เพื่อที่จะรับมือกับลูกได้อย่างถูกต้อง
5 พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ ควบคุมลูกไม่ได้ มีอะไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจเพื่อเตรียมวิธีรับมืออย่างเหมาะสมกันดีกว่าค่ะ
1. การร้องไห้

เมื่อทารกอายุประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ จะร้องไห้เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นเมื่ออายุ 10 – 12 สัปดาห์ ทารกจะร้องไห้น้อยลงเหลือประมาณวันละ 1 ชั่วโมง เมื่อโตขึ้นการร้องไห้ก็จะค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย
เด็กๆ จะมีเหตุผลในการร้องไห้แตกต่างกันตามช่วงวัย เช่นช่วงทารกอาจจะร้องไห้เพราะหิว เจ็บปวด มีไข้ ไม่สบายตัว แต่เมื่อโตขึ้นการร้องไห้อาจจะมาจากการไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการหรือรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจเท่าที่ควร
ดังนั้น การควบคุมการร้องไห้ในเด็กวัยทารกนั้นจึงเป็นเรื่องแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำใจว่าเราจะไม่สามารถควบคุมหรือกะเกณฑ์อะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกน้อยมีอาการ Colic หรืออาการที่ทารกจะร้องไห้หนักมากในช่วงเวลาเดิมๆ ซึ่งต้องอาศัยการรับมือที่เหมาะสมจากคุณพ่อคุณแม่เป็นสำคัญ
2. การกัด

การกัดถือเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กวัย 1–2 ปีซึ่งมาจากสาเหตุที่หลากหลาย เช่น เหตุผลทางร่างกาย คือมีอาการคันเหงือกเพราะฟันกำลังขึ้น หรืออาการทางจิตใจ เช่น การต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยการทดลองเอาสิ่งของเข้าปาก หรือต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ก็จะใช้วิธีกัดสิ่งของเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจได้
คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่าการควบคุมหรือห้ามไม่ให้ลูกกัดอะไรเลยเป็นเรื่องยาก แต่หากสังเกตจนเข้าใจถึงที่มาของการกัดแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยลดพฤติกรรมของลูกได้อย่างถูกต้อง เช่น หาของเล่นที่ปลอดภัยและกัดเพื่อลดอาการคันเหงือกของลูกได้ หรือให้ความสนใจลูก ไม่ปล่อยให้ลูกต้องใช้การกัดเพื่อเรียกร้องความสนใจต่อไป
3. การถามคำถาม

นักวิทยาศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่าในหนึ่งวันลูกน้อยอาจจะตั้งคำถามได้ถึงล้านครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ จะลดจำนวนคำถามลงเหลือเพียงประมาณ 73 คำถามต่อวันเท่านั้น ซึ่งการตั้งคำถามของลูก เป็นหนึ่งในส่ิงที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถควบคุมหรือห้ามได้ ดังนั้นการตอบคำถามที่ดี และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือชวนให้ลูกหาคำตอบไปพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยลดการตั้งคำถามของลูกได้
4. การหลับและตื่นนอน

การหลับและตื่นนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย ย่อมมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน
จากการศึกษาวิจัย ทารกจะใช้เวลากับการนอนมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยมักตื่นและร้องได้ทุก 3-4 ชั่วโมง ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาที่ควรหิว เนื่องจากทารกต้องกินนมทุก 3-4 ชั่วโมงนั่นเอง และพัฒนาการในการนอนจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงอายุที่มากขึ้น ดังนั้นในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่จึงต้องอดทนกับการนอนสั้นและตื่นบ่อยของลูก เพราะนั่นคือสัญชาตญาณและพัฒนาการตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของลูกนะคะ
5. ความชอบ

ช่วงแรกของชีวิตลูก อาจจะมีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนเลือกสรรสิ่งต่างๆ ให้ แต่เมื่อลูกโตขึ้น อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ และการพัฒนาตัวตนของลูก จะเป็นสิ่งกำหนดทิศทางความชอบของลูกเป็นสำคัญ เช่น เสื้อผ้าจะต้องเป็นลายการ์ตูนที่ชอบ เป็นสีที่ชอบ เลือกกินแต่อาหารที่ชอบ จนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกมีความเอาแต่ใจ และไม่เชื่อฟัง แต่ความจริงแล้ว การมีความชอบของตัวเอง เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างตัวตนของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจและหาทางส่งเสริมอย่างเหมาะสม
COMMENTS ARE OFF THIS POST