คุณพ่อคุณแม่อาจเคยสงสัยว่า ควรเริ่มให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับลูกตั้งแต่ตอนไหน ตอนเป็นทารก พูดไปแล้วลูกจะเข้าใจหรือเปล่า หรือรอให้โตแค่ไหน ลูกถึงจะเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังพยายามสื่อสาร
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ทารกอายุแปดเดือน ก็สามารถพูดประโยคที่ประกอบด้วยคำสามคำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับวิธีการที่คุณจะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการด้านภาษาได้ดีตั้งแต่แรกเกิด
1. เริ่มพูดคุยกับลูกตั้งแต่แรกเกิด
การที่คุณเริ่มพูดกับลูกตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ลูกจดจำน้ำเสียงของคุณได้ และยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาไปในตัว ลูกจะมีคลังคำศัพท์ที่ใหญ่ และคุ้นชินกับคำและประโยคต่างๆ แม้มันอาจดูประหลาดสักหน่อย ที่ดูเหมือนว่าคุณจะพูดอยู่ฝ่ายเดียว แต่จริงๆ แล้ว ลูกกำลังซึมซับและเรียนรู้ทุกอย่างที่คุณพูดกับเขาไปด้วยอย่างแน่นอน
2. ช่วยลูกเชื่อมโยงคำ
เวลาที่คุณกำลังหยิบจับหรือทำอะไรต่อหน้าลูก ลองบรรยายให้ลูกฟังด้วย ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ เช่น “แม่กำลังเก็บที่นอนของลูกอยู่นะคะ” หรือ “แม่กำลังเตรียมอาหาร เสร็จแล้วแม่จะมาอุ้มลูกนะคะ”
การทำแบบนี้จะทำให้ลูกเข้าใจว่า สิ่งที่คุณทำเรียกว่าอะไร และเข้าใจการเชื่อมโยงประโยคง่ายๆ มากขึ้น
3. อ่านนิทานให้ลูกฟัง
แม้ว่าทารกจะยังไม่เข้าใจถึงเนื้อหาของนิทาน แต่การที่คุณอ่านและเปิดภาพในหนังสือนิทานให้ลูกดู ลูกจะได้เรียนรู้คำศัพท์ และได้เห็นภาพที่มีสีสันแตกต่างกัน เป็นการสร้างจินตนาการให้กับลูก รวมไปถึงหนังสือนิทานที่มีผิวสัมผัสหลายแบบ ก็ทำให้ลูกได้สำรวจสิ่งใหม่ๆ ด้วยนิ้วเล็กๆ ของเขาเอง
4. สร้างบทสนทนากับลูก
เมื่อลูกเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ หรือเริ่มส่งเสียงสื่อสารเมื่อเห็นอะไรบางอย่าง เช่น ส่งเสียงเมื่อเห็นแมวเดินผ่าน คุณแม่ควรส่งเสียงตอบรับ เช่น คุณแม่อาจตอบกลับไปว่า “ใช่แล้วลูก แมวมันกำลังเดินกลับบ้าน”
ถึงแม้ว่าคุณจะไม่รู้ว่าลูกพูดว่าอะไรก็ตาม แต่การพยายามตอบรับลูกทุกครั้ง จะทำให้ลูกรู้สึกว่า คุณให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาอยากสื่อสารออกมานั่นเอง
5. ให้ลูกออกห่างจากหน้าจอทั้งหลาย
คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่า ยุคนี้มีรายการโทรทัศน์ หรือรายการในอินเทอร์เน็ตดีๆ มากมาย ที่จะช่วยสอนให้ลูกฟังและพูดได้ แถมเวลาปล่อยให้ลูกนั่งดูรายการในหน้าจอเหล่านั้น ลูกก็นั่งนิ่ง ไม่งอแงอีกต่างหาก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปล่อยให้เด็กต่ำกว่าสองขวบเรียนรู้อะไรผ่านการดูหน้าจอ จะส่งให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะสิ่งที่เกิดในจอ ถือเป็นการสื่อสารด้านเดียว ตัวการ์ตูนในหน้าจอไม่สามารถพูดจาโต้ตอบกับลูกคุณได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ลูกอาจหัดพูดได้เร็ว แต่ไม่ใช่การสื่อสารแบบโต้ตอบทั้งสองฝั่ง เหมือนที่เขาจะได้รับจากการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่อย่างแน่นอน
COMMENTS ARE OFF THIS POST