READING

5 พฤติกรรมติดนั่นติดนี่ของลูก บ่งบอกบางสิ่งได้...

5 พฤติกรรมติดนั่นติดนี่ของลูก บ่งบอกบางสิ่งได้

พ่อแม่หลายคนอาจเคยเห็นพฤติกรรมติดการกระทำหรือติดสิ่งของบางอย่างของลูก ไม่ว่าจะเป็นการติดตุ๊กตา ติดหมอน (หรือที่มักเรียกกันว่าติดหมอนเน่า) ติดท่าทางจับผม ดึงผม และกัดเล็บ พฤติกรรมเหล่านั้น บางครั้งก็สร้างความน่ารักน่าเอ็นดู แต่บางครั้งก็สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ได้ไม่น้อย

มีใครสงสัยกันไหมคะว่า การที่เด็กมีพฤติกรรมติดสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถบอกอะไรเราได้ และจะส่งผลกับลูกในระยะยาวหรือไม่ แล้วอย่างนั้น เราจะสามารถช่วยให้ลูกเลิกพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง

1.ติดหมอนหรือตุ๊กตา

Addictedbehavior_web_1

หมอนหรือตุ๊กตาประจำตัว เป็นไอเท็มฮิตที่เด็กๆ โปรดปราน โดยอาการนี้เป็นพฤติกรรมของการยกให้หมอนเป็นสิ่งของแทนใจ ช่วยให้รู้สึกคลายกังวล สงบ อบอุ่นใจ เพราะเด็กในช่วงวัย 1-3 ปี เป็นวัยที่ต้องเริ่มก้าวผ่านการพึ่งพิงพ่อแม่ ทำให้เจ้าตัวน้อยพยายามหาสิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกสบายใจเอาไว้ข้างกายตลอดเวลา แต่หากลูกมีอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้วยังมีพฤติกรรมติดหมอนหรือตุ๊กตาอยู่ เป็นไปได้ว่าเขารู้สึกโหยหาความรักและรู้สึกถึงความห่างเหินจากพ่อแม่

วิธีแก้ไข คือ การให้เวลาลูกมากขึ้น มีการทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ เพื่อดึงความสนใจ ไม่ให้ลูกรู้สึกว่าหมอนเป็นตัวแทนของพ่อแม่ แต่ตัวของพ่อแม่เลยต่างหากที่สามารถเข้าหาและสื่อสารเพื่อสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ อีกทั้งพ่อแม่ควรจะส่งเสริมความมั่นใจให้แก่ลูก ด้วยวิธีการฝึกระเบียบวินัย ฝึกการคิด และการแก้ปัญหา เพราะหากลูกรู้สึกมั่นใจในความรักของคุณพ่อคุณแม่ ก็จะไม่จำเป็นต้องใช้หมอนหรือตุ๊กตาคอยเป็นเครื่องมือเติมเต็มความรู้สึกที่เว้าแหว่ง

2.ติดจับผม ถอนผม

Addictedbehavior_web_2

คุณพ่อคุณแม่อาจเคยเห็นลูกจับผมตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจทั้งจับเฉยๆ ม้วนเข้าไปในนิ้ว หรือดึงจนผมขาดออกมาเลยก็ได้ โดยอาการเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความเครียด ความไม่สบายใจ และหงุดหงิดใจ  จึงทำให้มีพฤติกรรมแบบนี้ออกมา ที่จริงแล้ว การจับผมบ่อยๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กในช่วง 1-3 ขวบ แต่หากมีการแสดงออกไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะเป็นสัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังเครียด เรียกร้องความสนใจ และเสียบุคลิกภาพต่อไปในอนาคต

วิธีแก้ไข คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุด่าว่ากล่าวลูก เพราะจะยิ่งทำให้ตัวเด็กเกิดภาวะเครียดมากขึ้น วิธีที่เหมาะสมที่สุดเป็นการหาสาเหตุว่าอะไรทำให้เด็กติดการจับผม เช่น หงุดหงิดหรือไม่สบายใจ เกิดจากเบื่อ หรือมีอาการคันหนังศีรษะธรรมดา เมื่อทราบสาเหตุแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถหาทางแก้ไขสถานการณ์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมลูกในเวลานั้นๆ ได้

3.ติดกัดเล็บ

Addictedbehavior_web_3

การกัดเล็บเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่บ่งบอกได้ถึงความกดดัน จดจ่อกับบางสิ่งอยู่ที่ต้องใช้ความคิดมากๆ เป็นการระบายความโกรธภายในที่ไม่รู้จะไปลงกับอะไรดี หรือแม้แต่เด็กค้นพบด้วยตัวเองว่าการกัดเล็บนั้นช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย จึงทำอยู่เรื่อยๆ พ่อแม่หลายคนมักรู้สึกเป็นกังวลกับพฤติกรรมกัดเล็บของลูก เพราะในแง่บุคลิกภาพ ยิ่งโตขึ้นก็จะยิ่งดูไม่ดี และทำให้สิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดอยู่ตามนิ้วมือและซอกเล็บเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

วิธีการแก้ก็เช่นเดียวกับการติดจับผม คือ คุณพ่อคุณแม่ห้ามกระทำการดุด่า ล้อเลียน หรือขู่ให้ลูกกลัว เช่น ขู่ว่าถ้ากัดนิ้วจะทำให้นิ้วกุด เป็นอันขาด เพราะจะทำให้ลูกฝังใจและเกิดความไม่มั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น แต่ควรหาสาเหตุหรือสังเกตกิจกรรมที่ลูกมักจะทำไปด้วย กัดเล็บไปด้วย เช่น การดูโทรทัศน์ แล้วเปลี่ยนเป็นชวนลูกเล่นของเล่นแทน หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อหยุดการกัดเล็บของลูก

4.ติดดูดนิ้ว

Addictedbehavior_web_4

ดูดนิ้วก็เหมือนกับการดูดจุกขวดนมหรือเต้านมจากแม่ เป็นพฤติกรรมส่วนหนึ่งของการพัฒนาการในเด็ก แท้จริงแล้วเจ้าตัวน้อยได้เริ่มดูดนิ้วมือมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของแม่เสียด้วยซ้ำ จึงไม่ต้องตกอกตกใจอะไร ถ้าลูกที่เพิ่งคลอดรู้จักการอมนิ้วหรือดูดนิ้วตัวเองโชว์ให้เห็น เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนอาจกังวลใจกับพฤติกรรมนี้ เพราะกลัวว่าจะเป็นปัญหาในอนาคต

ที่จริงแล้วการดูดนิ้วมีข้อดีกับเด็กหลายอย่าง ทั้งช่วยกล่อม หรือปลอบตัวเองเพื่อให้ผ่อนคลาย รวมถึงมีส่วนในการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในการเป็นภูมิแพ้ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ถึงกระนั้นหากเด็กอายุมากกว่า 2-3 ปีขึ้นไป แต่ยังดูดนิ้วอยู่ก็คงไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีนัก เพราะเด็กอาจมีปัญหาเรื่องของช่องปาก หรือการพูดช้าติดอ่างตามมาได้

วิธีแก้ไข คือ เมื่อเด็กนอนหลับพ่อแม่สามารถจับมือลูกออกจากปากให้หยุดได้ เพราะหากทิ้งไว้นานๆ อาจเกิดปัญหาในเรื่องของฟันตามมาได้ในอนาคต รวมไปถึงการหากิจกรรมให้เด็กหยิบจับมือไม่ว่างก็สามารถทำได้ค่ะ เพื่อให้เขาลืมดูดนิ้วไปเลย

5.ติดกัดฟัน

Addictedbehavior_web_5

เมื่อฟันน้ำนมเริ่มขึ้น ความคันเหงือก ความปวดตุ่ยๆ ความหมั่นเขี้ยว ก็ต่างพากันรบกวน เจ้าตัวเล็กเลยปฏิบัติการกัดฟันเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ พ่อแม่บางคนพอเห็นลูกกัดฟันก็รู้สึกเป็นกังวลใจ แต่แท้จริงแล้วอาการกัดฟันนั้นเป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะเป็นช่วงที่ฟันกำลังเริ่มขึ้นในตอนที่เด็กอายุ 5-6 เดือน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกเขารู้สึกไม่ค่อยสบายช่องปาก พ่อแม่สามารถช่วยลูกได้ด้วยการหาของเล่นไว้ฝึกการขบแทะบรรเทาอาการปวด

ปกติเด็กจะเลิกมีการกัดฟันเมื่ออายุประมาณ 6 ปี แต่หากยังมีพฤติกรรมแบบนี้ต่อไป อาจบ่งบอกถึงภาวะความเครียด และความวิตกกังวลได้ รวมไปถึงปัญหาฟันที่อาจผุ กร่อน และปวดกรามได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพาลูกไปพบทันตแพทย์บ่อยๆ มีการช่วยให้ลูกผ่อนคลายด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การฟังเพลงผ่อนคลาย เป็นต้น

อ้างอิง
womenmthai
theasianparent
theasianparent
mamaexpert
amarinbabyandkids
maerakluke

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST