การเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเลข มีความสำคัญพอๆ กับการเรียนรู้เรื่องภาษาในเด็กวัย 1-2 ปี สามารถจดจำการนับเลข 1 ถึง 10 จากคุณพ่อคุณแม่ได้ และ ในเด็กวัย 3-4 ปีจะเริ่มเขียนและนับเลขจาก 0 ถึง 10 ด้วยนิ้วมือ เด็กบางคนอาจนับได้ถึง 100 และในเด็กวัย 5-6 ขวบ ลูกสามารถบวกลบเลขง่ายๆ ที่มีผลรวมไม่เกิน 10 หรือท่องสูตรคูณตั้งแต่แม่ 1 ถึงแม่ 5 ได้
นอกจากนี้ลูกยังต้องใช้ตัวเลขในชีวิตประจำวัน เช่น ดูเวลา นับเงิน วัดขนาด ความยาว น้ำหนัก ปริมาณ และความเร็ว ดังนั้นตัวเลขจึงมีบทบาทในชีวิตของลูกมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่การสอนลูกในนับเลขแบบธรรมดาก็อาจจะน่าเบื่อเกินไปสำหรับเด็ก M.O.M เลยรวบรวมกิจกรรมตัวเลขที่จะทำให้ลูกสนุกและรักตัวเลขมากขึ้น
1. กิจกรรมบิงโก
เกมบิงโกไม่ใช่เกมสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ลูกในวัยอนุบาลก็สามารถเล่นได้ เพราะมีตัวเลขให้ได้เล่นสนุกและได้ฝึกทักษะด้านตัวเลข
อุปกรณ์: กระดาษแข็งและปากกาเมจิก
วิธีการเล่น:
- ตัดกระดาษแข็งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อเป็นบัตรสำหรับเล่นบิงโก และตีช่องทั้งหมด 16 ช่อง
- เขียนตัวเลขจาก 1 ถึง 20 ลงไปในกระดาษแข็งที่เตรียมไว้ ด้วยการเขียนลำดับแบบสุ่ม และเขียนข้ามตัวเลขได้สี่ตัว
- พูดตัวเลขแบบสุ่มจาก 1 ถึง 20 แลัวให้เด็กๆ เอาปากกาเมจิกกากบาททับบนตัวเลขนั้น
- เด็กคนแรกที่กากบาทเป็นแถวตั้งตรงทั้งแถว เป็นแนวยาวขนานกันทั้งแถว หรือเป็นแถวทแยงมุมซ้ายหรือแถวทแยงมุมขวา เป็นผู้ชนะ
สิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นกิจกรรมบิงโก: ลูกสามารถระบุตัวเลขได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก
2. กิจกรรมผลไม้ตัวเลข
กิจกรรมนี้จะช่วยให้ลูกเปลี่ยนความคิดมาชอบกินผลไม้ และเข้าใจตัวเลขมากขึ้น
อุปกรณ์: แอปเปิ้ล, ลูกแพร์, ลูกพลัม, องุ่น และผลไม้ชนิดต่างๆ
วิธีการเล่น:
- นำองุ่นสองลูกวางไว้ข้างๆ กันโดยมีเครื่องหมาย ‘บวก’ คั่นกลาง และทำสัญลักษณ์ ‘เท่ากับ’ ด้านหลัง
- ให้ลูกใส่จำนวนองุ่นที่ถูกต้องเป็นคำตอบ หลังเครื่องหมาย “เท่ากับ”
- ทุกครั้งที่ลูกตอบถูกต้องจะได้รับผลไม้เป็นของรางวัล
- เมื่อลูกฝึกฝนจนคล่องแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มจากเลขหลักหน่วย เป็นเลขหลักสิบ หรือเพิ่มเครื่องหมาย ‘ลบ’ และ ‘คูณ’ ได้ด้วย
สิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นกิจกรรมผลไม้ตัวเลข: การบวกเลขและคิดเลขในใจ
3. กิจกรรมภาพช่วยนับ
กิจกรรมนี้ไม่ได้ให้ลูกนับภาพ แต่ให้นับสิ่งที่อยู่ในภาพ
อุปกรณ์: รูปภาพที่มีสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกนับ
วิธีการเล่น:
- ยกตัวอย่างเช่น ใช้รูปเต่าทองที่มีจุดดำในแต่ละปีก
- ให้ลูกนับจำนวนจุดดำทั้งหมด
- เมื่อลูกนับคล่องขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจใช้รูปที่มีสัตว์หลายชนิด แล้วให้ลูกนับจำนวนสัตว์ จำนวนขา หรือจำนวนหาง
สิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นกิจกรรมภาพช่วยนับ: บวกเลขโดยไม่ต้องใช้ตัวเลข
4. กิจกรรมเยลลี่ชวนคิดเลข
เป็นกิจกรรมที่เอาเยลลี่ที่เด็กๆ ชอบมารวมกับตัวเลข ทำให้เด็กๆ สนุกสนานและถูกใจกับรสชาติหวานๆ ของเยลลี่
อุปกรณ์: เยลลี่, ถ้วยใบใหญ่ 1 ใบ และถ้วยใบเล็ก 8 ใบ
วิธีการเล่น:
- เทเยลลี่ทั้งหมดลงในถ้วยใบใหญ่
- ให้ลูกแยกสีเยลลี่ลงในถ้วยใบเล็ก หนึ่งสีต่อถ้วยหนึ่งใบ
- นับเยลลี่แต่ละสี จากนั้นถามลูกว่าสีไหนมีจำนวนมากที่สุด และสีไหนมีจำนวนน้อยที่สุด
สิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นกิจกรรมเยลลี่ชวนคิดเลข: แยกสีและฝึกเปรียบเทียบจำนวนมากกว่าและน้อยกว่า
5. กิจกรรมตัดกระดาษสำรวจรูปทรงเรขาคณิต
เด็กวัยอนุบาลชอบเรขาคณิตรูปทรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม และกิจกรรมนี้จะทำให้เด็กๆ หลงรักเรขาคณิตมากขึ้น
อุปกรณ์: กระดาษสีตัดเป็นรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ เช่น วงกลม, สามเหลี่ยม, สี่เหลี่ยม, ห้าเหลี่ยม, หกเหลี่ยม และแปดเหลี่ยม เป็นต้น
วิธีการเล่น:
- ใช้กระดาษสีตัดเป็นรูปทรงเรขาคณิต และสอนให้ลูกรู้ว่าแต่ละรูปทรงมีชื่อเรียกว่าอะไร
- ให้ลูกวาดรูปเรขาคณิตที่เห็นลงบนกระดาษ
- ถามลูกว่ารูปทรงเรขาคณิตที่วาดเป็นทรงอะไร
สิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นกิจกรรมตัดกระดาษสำรวจรูปทรงเรขาคณิต: รูปร่างและรูปทรงเรขาคณิต
6. กิจกรรมมาร์ชแมลโลว์มีกี่ชิ้น
มาร์ชแมลโลว์เป็นขนมของโปรดสำหรับเด็กๆ และยังเป็นแรงจูงใจชั้นดีให้เด็กๆ อยากเล่นกิจกรรมนี้ ผ่านบทบาทสมมติโดยให้ลูกช่วยเหลือมาชเมลโล่ในด่านต่างๆ
อุปกรณ์: มาร์ชแมลโลว์, ช้อน, แก้วใส, ดินสอ และกระดาษ
วิธีการเล่น:
- ฝึกให้ลูกรู้จักการกะประมาณ ด้วยการใส่มาชเมลโล่ลงไปในแก้วใส และให้ลูกเดาว่ามีมาร์ชแมลโลว์อยู่กี่ชิ้น ถ้าลูกทายถูกหรือใกล้เคียงก็จะได้รับมาชเมลโล่จำนวนทั้งหมดนี้ไป
- ฝึกให้ลูกรู้จักการวัด ด้วยการวางช้อนลงบนโต๊ะ และถามลูกว่าต้องใช้มาร์ชแมลโลว์วางทั้งหมดกี่ชิ้น จึงจะมีความยาวเท่ากับช้อนคันนี้
- ฝึกให้ลูกรู้จักพื้นที่ ด้วยการวาดรูปทรงเรขาคณิตลงบนกระดาษ ยกตัวอย่างเช่น วาดสี่เหลี่ยม และถามลูกว่า ต้องวางมาร์ชแมลโลว์กี่ชิ้น จึงจะเต็มพื้นที่
สิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นกิจกรรมมาร์ชแมลโลว์มีกี่ชิ้น: นับเลข กะประมาณ การวัด และรู้จักพื้นที่
7. กิจกรรมลูกโป่งน้ำ
กิจกรรมกลางแจ้งที่ให้เด็กๆ เล่นอย่างสนุกสนานเพราะมีน้ำ ลูกโป่ง และตัวเลข
อุปกรณ์: ลูกโป่งน้ำ, ถัง และชอล์ก
วิธีการเล่น:
- ใช้ชอล์กเขียนตัวเลขที่เป็นคำตอบลงบนพื้นและวงกลมรอบตัวเลขแต่ละตัว
- คิดโจทย์เลขให้กับลูก เช่น 2+1 เท่ากับเท่าไร หรือ 6-3 เท่ากับเท่าไร
- ให้ลูกใช้ลูกโป่งใส่น้ำปาลงบนตัวเลขคำตอบที่ถูกต้อง
สิ่งที่ลูกจะได้รับจากการเล่นกิจกรรมลูกโป่งน้ำ: การบวก การลบ และเรียนรู้เรื่องจำนวนมากกว่า จำนวนน้อยกว่า
COMMENTS ARE OFF THIS POST