เคยสังเกตตัวเองไหม ว่าในหนึ่งวันคุณพูดกับลูกน้อยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อลูกอยู่ในวัยหัดพูด คุณอาจไม่แน่ใจว่าลูกจะเข้าใจสิ่งที่คุณพูดบ้างหรือเปล่า แต่ความจริงแล้วเด็กวัยนี้นี่แหละที่กำลังเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร
งานวิจัยพบว่าปริมาณคำพูดที่เด็กได้ยินเมื่อมีคนพูดกับเขาโดยตรง จะส่งผลให้เด็กสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งพูดกับเด็กมากเท่าไร คลังคำศัพท์ของเขาก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น ทำให้เด็กเข้าใจภาษาและสื่อสารได้มากขึ้น
เพราะฉะนั้น พูดคุยกับลูกไปเถอะ แต่ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าจะเริ่มยังไง เรามี 7 เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้ลูกคุณเรียนรู้ที่จะสื่อสารได้มากขึ้น
1. อธิบายทุกสิ่งอย่าง
พูดกับลูก อธิบายว่าตอนนี้อยู่ที่ไหนกัน กำลังทำอะไร วันนี้เราจะไปไหน มองเห็นอะไรรอบตัวบ้าง บรรยายในสิ่งที่ลูกเห็นในสิ่งที่ลูกชอบ ยกตัวอย่าง เช่น “ดูแมวตัวนั้นสิ ขนมันสีดำเงา มีสี่ขาเหมือนหมาที่บ้านเรา แต่ว่าเจ้าแมวตัวเล็กกว่ามาก ลูกชอบไหม”
แค่หนึ่งประโยคนี้ ลูกคุณจะได้เรียนรู้ชื่อสัตว์ขนาดเล็กใหญ่ สี และจำนวน ลูกอาจไม่เข้าใจทุกอย่างทันที แต่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ จดจำ และเข้าใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ
2. เล่าเรื่องให้ฟัง
เด็กมีจินตนาการสูง คุณสามารถสร้างเรื่องราวจากคนหรือสิ่งของรอบตัว แล้วใช้เรื่องราวนั้นเล่นกับจินตนาการลูกได้ โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเล่าเรื่องให้แฟนตาซีเหนือเมฆหรือซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่อาจเป็นเรื่องราวง่ายๆ เช่น คุณเห็นคนถือตะกร้าเดินอยู่บนถนน คุณอาจจะพูดกับลูกว่า “ดูคุณป้าที่ถือตะกร้าคนนั้นสิ แม่ว่าเขากำลังไปซื้อของที่ตลาด แล้วก็อาจจะซื้อกล้วยกลับบ้าน เหมือนที่พวกเรากำลังจะไปซื้อกันก็ได้นะ หนูว่าคุณป้าเขาชอบกินกล้วยแบบไหนน้า…”
3. ถามคำถามลูก
เลือกใช้คำที่ลูกรู้จักและเข้าใจ (คำถามในที่นี้คือคำถามง่ายๆ เช่น “ลูกเห็นเครื่องบินลำนั้นไหม… ลูกจำได้ไหมว่าเคยขึ้นเครื่องบินมาแล้ว” เป็นต้น)
ถึงแม้ว่าลูกจะยังโต้ตอบไม่ได้ แต่คุณก็ควรตั้งคำถาม คุณต้องใช้น้ำเสียงที่จะทำให้ลูกเข้าใจว่า นี่คือประโยคคำถามที่ต้องการให้ลูกตอบสนอง และให้เวลาลูกสักนิด ถ้าลูกไม่สามารถตอบได้ คุณก็ต้องเป็นคนตอบคำถามนั้นเอง เพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณต้องการอะไรจากการถามนี้
4. มองโลกในแง่ดี
ทำให้การพูดเป็นเรื่องสนุก เล่าเรื่องราวดีๆ พูดคุยหยอกล้อเล่นกันสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่พูดเฉพาะเวลาที่คุณต้องการสั่งให้ลูกทำตาม หรือสั่งสอนลูกเท่านั้น
5. ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาเบบี๋
คุณพ่อคุณแม่หลายคนพยายามพูดกับลูกด้วยภาษาที่คิดว่าจะทำให้ลูกเข้าใจง่ายขึ้น เช่น “หนูเห็นตัวมอมอไหม” การพูดกับเด็กแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กรู้ภาษาและการสื่อสารมากขึ้น เพราะในเมื่อคนทั้งโลกเรียกตัวมอมอว่าวัว จึงไม่มีความจำเป็นเลยที่จะสอนให้ลูกเรียกว่ามอมอ
6. ใช้ท่าทางให้มากขึ้น
การสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูดมีความสำคัญต่อเด็กเป็นอย่างมาก ลองคิดภาพว่าคุณต้องเรียนภาษาใหม่ การที่ผู้พูดอีกฝ่ายพยายามใช้มือและท่าทางเพื่ออธิบาย จะช่วยให้คุณเข้าใจภาษาได้มากขึ้นแค่ไหน เพราะฉะนั้นแม้ว่าคุณจะต้องชี้นิ้ว โบกไม้โบกมือ ยกแข้งยกขา แม้กระทั่งเต้นแร้งเต้นกาอะไรก็ตาม ถ้านั่นจะช่วยให้ลูกคุณเข้าใจคุณมากขึ้น ก็ทำเถอะค่ะ
7. ฟัง
ให้โอกาสลูกได้พูดและโต้ตอบ หยุดตอบคำถามแทนลูก และทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี แล้วคุณจะได้ยินเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์จากลูก และพบว่าลูกไม่ใช่เด็กที่ไม่รู้ภาษาอีกต่อไป
NO COMMENT