7 วิธีชวนลูกลดใช้พลาสติก

ข่าวการสูญเสียสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลที่มีพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายของสัตว์โลกผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการใช้พลาสติกเช่นเดียวกับมนุษย์เราแม้แต่น้อย ช่วยปลุกกระแส #plasticless หรือการรณรงค์ให้ช่วยกันลดปริมาณการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่หากมองในระยะยาว ความหวังที่การช่วยกันลดใช้พลาสติกจะประสบผลสำเร็จและเป็นที่น่าพอใจ คงไม่ใช่หน้าที่ของคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่อย่างเราเท่านั้น แต่เด็กๆ ของเราก็ควรได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ

1. ชวนลูกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่าพลาสติก

Reduceplastic_web_1

เพราะปัญหาพลาสติกล้นโลก ทำให้มีการพยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติแทน เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยลดการใช้พลาสติกและรักษาโลกใบนี้ไว้ ลองชวนลูกหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น ถุงกระดาษ กล่องกระดาษชานอ้อย มันสำปะหลัง ถ้วยจานจากใบตอง ใบทองกวาว หูหิ้วแก้วน้ำจากผักตบชวา ที่ใช้เวลาย่อยสลายเพียงแค่ 14-45 วันถ้าเทียบกับพลาสติกที่ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 164,250 วันหรือ 450 ปีเลยทีเดียว

2. ชวนลูกหันมาพกถุงผ้า แก้วน้ำ หลอดดูดส่วนตัว และปฏิเสธการรับหลอดพลาสติกหรือถุงพลาสติก เท่าที่ทำได้

Reduceplastic_web_2

คุณพ่อคุณแม่ลองหากระติกน้ำ หรือแก้วน้ำพกพาเอาไว้ให้ลูกพกติดตัวเวลาออกไปนอกบ้าน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกไปซื้อน้ำดื่มที่บรรจุขวดพลาสติกนอกบ้าน และพกถุงไปเองเวลาต้องการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ ถ้าซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไม่กี่ชิ้น ลองสอนให้ลูกเป็นคนปฏิเสธที่จะใส่ถุงพลาสติก แล้วช่วยกันถือของ ทำให้ลูกเห็นว่าการพยายามลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องยาก

3. ชวนลูกวางแผนก่อนไปซื้อของ จ่ายตลาด

Reduceplastic_web_3

ก่อนออกจากบ้านไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ ลองชวนลูกมาลิสต์รายการของหรืออาหารสดที่จะซื้อ แล้วช่วยกันเตรียมกล่องพลาสติกไปใส่อาหารสด และเตรียมถุงผ้ามาใส่อาหารแห้งและข้าวของเครื่องใช้ให้เพียงพอ เท่านี้ก็ช่วยลดการใช้พลาสติกลงไปได้เยอะเลยทีเดียว

4. ชวนลูกนำพลาสติกผ่านการใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอีก

Reduceplastic_web_4

พลาสติกส่วนใหญ่ที่เราใช้กันเป็นพลาสติกที่สามารถใช้ได้ครั้งเดียว แต่บางอย่างก็สามารถเอากลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ขวดน้ำ ถุงก๊อบแก๊บ กล่องพลาสติกใส่กับข้าว แต่ก็ควรระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ

การนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทำความสะอาด เพราะขวดน้ำประเภทนี้มักมีร่องรอยตกแต่งเพื่อความสวยงามแต่ยากที่จะทำความสะอาด ตามซอกร่องรอยขวดน้ำอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ ถ้าขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำเริ่มมีรอยร้าว บุบ แตก มีกลิ่นแปลกไปจากเดิม สีขวดเป็นขุ่นหรือมีคราบเหลือง ให้รีบทิ้งทันที

ถุงก๊อบแก๊บ หากจะนำมาใช้ซ้ำ ไม่ควรนำไปใส่อาหารเด็ดขาด เพราะความร้อนจากอาหารอาจทำให้โลหะหนักปนเปื้อนในอาหาร ทางที่ดีนำถุงก๊อบแก๊บเหล่านี้เปลี่ยนเป็นถุงขยะหรือเอาไว้ใส่ของแห้งน่าจะดีกว่า

และถ้าอยากนำกล่องพลาสติกลับมาใช้ ควรใช้บรรจุของเหมือนครั้งแรกที่ใช้ เช่น ครั้งแรกกล่องพลาสติกบรรจุของร้อนมา พอจะนำมาใช้ครั้งต่อไปก็ควรเป็นอาหารในลักษณะเดียวกัน

5. ชวนลูกคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง

Reduceplastic_web_5

เพื่อลดต้นทุนการกำจัดขยะและเอื้ออำนวยให้ขยะพลาสติกถูกนำไปรีไซเคิลได้อย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างของขยะแต่ละประเภท จัดเตรียมถังขยะสำหรับทิ้งขยะประเภทต่างๆ เอาไว้ภายในบ้าน เพราะการปลูกฝังนิสัยแยกขยะให้ลูกจะเป็นจริงได้มากที่สุดต้องเริ่มตั้งแต่ในบ้าน

6. ชวนลูกประดิษฐ์ของ DIY จากขวดพลาสติก

Reduceplastic_web_6

ถ้าอยากปลูกฝังให้ลูกลดใช้พลาสติกและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ลองชวนลูกมา DIY ดัดแปลงขวดพลาสติกให้เป็นไอเทมสุดพิเศษที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น กระถางต้นไม้ กล่องใส่ของใส่เครื่องเขียน กระปุกออมสิน และสิ่งประดิษฐ์ประดอยหลายอย่างอีกมากมายเท่าที่ลูกคุณจะจินตนาการและทำขึ้นมาได้

7. ชวนลูกคิดว่าพลาสติกส่งผลกระทบต่อชีวิตลูกอย่างไร

Reduceplastic_web_7

คุณพ่อคุณแม่ควรเล่าหรืออธิบายให้ลูกเข้าใจว่า พลาสติกแต่ละอย่างเราใช้ในชีวิตประจำวัน จะถูกส่งต่อไปไหน กำจัดอย่างไร ใช้เวลากำจัดนานเท่าไร และใครคือผู้ได้รับผลกระทบ เมื่อมีพลาสติกจำนวนมากไม่ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง

ช่วงที่มีข่าวสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะกินพลาสติกเข้าไป คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาคุยหรือปรึกษากับลูกได้ว่าเขามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

ระหว่างพูดคุยคุณพ่อคุณแม่อาจให้ความรู้เสริม เช่น ย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะทิ้งขยะพลาสติกไกลแค่ไหน ก็สามารถกลับมาเป็นอันตรายต่อลูกอยู่ดี เพราะถ้าขยะพลาสติกถูกปล่อยลงทะเล และย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก หรือพลาสติกขนาดเล็ก เมื่อสัตวในทะเลกินเข้าไป นอกจากจะเป็นอันตรายกับตัวมันเองแล้ว และสุดท้ายมนุษย์ก็อาจต้องกินสัตว์ทะเลที่มีพลาสติกในร่างกายเข้าไปอยู่ดี

 

 

 

อ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ
สำนักงานคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Chulazerowaste
Sanook
Komchadluek
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย
Mthai
Thairath
Thaipublica
Mgronline
Ejan
TNN
Campus Star
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
adayBULLETIN
Trueplookpanya
ThaiPBS

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

COMMENTS ARE OFF THIS POST