8 เทคนิคเลือกของเล่นให้เด็กน้อย

มาดูกันว่าจะเลือกของเล่นแบบไหนที่ไม่ได้ดีแค่คุณภาพ แต่ยังท้าทาย เสริมสร้างพัฒนาการให้ลูก ทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด และภาษาไปพร้อมๆ กัน

1. ของเล่นที่พลิกแพลงวิธีเล่นได้

เด็กๆ ชอบแกะ แคะ รื้อสิ่งของ แล้วก็พยายามเก็บให้เข้าที่ ดังนั้น เลือกของเล่นปลายเปิด ให้พวกเขาได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกด้านด้วยวิธีเล่นที่ต่างกันมากที่สุด ของเล่นลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กช่างจินตนาการ รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบตามหลักความเป็นจริง เช่น บล็อกไม้ บล็อกพลาสติก อุปกรณ์เล่นทรายเล่นน้ำที่เอามาต่อทำเป็นถนน สะพาน บ้าน หรือยานอวกาศได้ด้วย

2. ของเล่นที่เติบโตไปพร้อมกับลูก

เลือกของเล่นที่ลูกจะไม่เบื่อง่ายๆ และช่วยพัฒนาลูกตามวัยได้อย่างเหมาะสม เช่น ของเล่นพลาสติกรูปสัตว์ชิ้นเล็กๆ หรือฟิกเกอร์ตัวการ์ตูน เพราะเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เขาจะสร้างเรื่องราวและเล่นบทบาทสมมติกับตุ๊กตารูปสัตว์เหล่านั้นได้เรื่อยๆ

3. ของเล่นที่ส่งเสริมให้ลูกเป็นนักสำรวจและนักแก้ไขปัญหา

การเล่นเป็นอีกทางที่ช่วยให้เด็กฝึกการคิด ฝึกทักษะใหม่ซ้ำๆ โดยไม่เบื่อ เรียนรู้ด้วยวิธีของตัวเอง ใช้ของเล่น เช่น เกมปริศนา พัซเซิล ตัวต่อแบบต่างๆ อุปกรณ์ศิลปะอย่างสีเทียน สีน้ำ ปูนพลาสเตอร์ หรือแป้งโด เป็นต้น

4. ของเล่นที่จุดประกายจินตนาการ

ช่วงสามขวบเป็นวัยที่ทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กพัฒนาดีที่สุด จนถึงขั้นที่เริ่มจินตนาการว่าตัวเองเป็นอะไร หรือของชิ้นไหนเป็นอะไร เช่น ผมเป็นพระราชา และตุ๊กตาเป็นราชรถ

เพราะฉะนั้น เตรียมของเล่นที่ลูกจะใช้เล่าเรื่อง และพัฒนาทักษะการแสดงออกเช่น เครื่องแต่งกายแบบต่างๆ บล็อกไม้ ชุดเครื่องครัวของเล่น ฟิกเกอร์ตุ๊กตาท่าทางต่างๆ หรือของเล่นที่มีความใกล้เคียงกับชีวิตจริง เช่น เอากล่องเปล่ามาทำเป็นบ้าน เรือโจรสลัด อุโมงค์ หรืออะไรก็ตามที่เด็กๆ จะได้ใช้จินตนาการเอาไว้ให้พร้อม เพราะการเล่นบทบาทสมมติจะพัฒนาทักษะทางภาษา การฟังพูดอ่านเขียน จนถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และช่วยให้เด็กๆ จัดลำดับความสำคัญของเรื่องราวในชีวิตจริงได้

5. ของเล่นเสมือนจริง หรือเล่น ‘ของจริง’

ลูกๆ รู้ว่าของใช้แต่ละอย่างในชีวิตจริงมีฟังก์ชันการทำงานอย่างไร เช่น รีโมตใช้เพิ่มลดเสียงทีวี สวิตช์ใช้เปิดปิดไฟ ดังนั้น พวกเขาจึงสนใจที่จะเล่นของที่ใช้ได้จริง เพราะเด็กๆ กระตือรือร้นอยากมีความสามารถแบบผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมของใช้ที่เล่นได้จริง หรือของเล่นที่เสมือนจริง เช่น จานพลาสติก ตุ๊กตาผลไม้ กุญแจ โทรศัพท์ของเล่น หรือเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ เอาไว้บ้าง

6. ของเล่นที่ฝึกทักษะการอ่าน

หนังสือ นิทาน สมุดวาดภาพที่มีลูกเล่น พ็อปอัป เสียงเพลง หรือพื้นผิวรูปแบบต่างๆ กันให้เด็กได้ลองสัมผัส หรืออาจนำของจริงมาดัดแปลงให้เด็กๆ เล่น เช่น ใบปลิว นิตยสาร สมุดเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้ว แต่หน้าตามีสีสันดึงดูดและน่าสนุกสำหรับเด็กๆ เพราะนอกจากเล่นสนุกแล้วยังช่วยให้เด็กๆ คุ้นเคยกับตัวอักษรและข้อความด้วย

7. ของเล่นที่ส่งเสริมให้ลูกๆ เป็นเด็กแอ็กทีฟ

เมื่อร่างกายของเด็กๆ พัฒนาตามวัยจนเขาแข็งแรงพอ และมั่นใจกับการขยับเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ งานของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ ยินดีกับการกระโดดโลดเต้นนั้น แล้วมองหาของเล่นที่จะฝึกฝนและพัฒนาร่างกายของลูกๆ ให้แข็งแรงขึ้น เช่น ลูกบอลที่รูปร่างและขนาดแตกต่างกัน จักรยานสามล้อแบบที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ชุดโบว์ลิ่งของเล่น ของเล่นลากจูงแบบต่างๆ ของเล่นจำลองนักสำรวจให้ฝึกขุดหาซากฟอสซิล อุโมงค์จำลองให้คลานและลอดได้

8. ของเล่นที่เล่นด้วยกันได้ทุกวัย

เมื่อเข้าวัยสามขวบ ลองให้ลูกๆ เล่นกับผู้ใหญ่บ้าง เช่น บอร์ดเกมฝึกความจำ หรือเกมที่ไม่ต้องใช้การอ่านแต่สนุกได้ทุกวัย เพื่อให้ทั้งครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งเสริมให้เด็กฝึกจำ คิด คำนวณ ไปจนถึงการฟังและควบคุมตัวเองเมื่อต้องทำตามกฎเกณฑ์

ที่สำคัญคือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เขาจะได้เรียนรู้ว่า จะยินดีกับความสำเร็จและรับมือกับความพ่ายแพ้อย่างไร

ที่มา
zerotothree

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST