READING

8 เทคนิค สอนลูกอย่างไรให้เชื่อฟังไม่ต่อต้าน...

8 เทคนิค สอนลูกอย่างไรให้เชื่อฟังไม่ต่อต้าน

ยิ่งลูกโตขึ้น การหวังลูกให้เป็นเด็กเชื่อฟัง ว่านอนสอนง่าย ยิ่งกลายเป็นเรื่องยาก เพราะลูกเริ่มมีความคิดและความต้องการเป็นของตัวเอง บางครั้งลูกสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า หรือบางครั้งลูกก็ไม่อยากคุย ไม่อยากทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ จึงใช้วิธีทำหูทวนลม และเพิกเฉยต่อคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ และนั่นอาจจะทำให้คุณสติแตกได้

M.O.M รวบรวมเทคนิคการสอนลูกให้เชื่อฟังมากขึ้น โดยไม่ต้องขึ้นเสียงให้เกิดความกระทบกระทั่งในครอบครัวดังนี้

1. สอนด้วยการเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น

Howtoteachkid_web_1

เด็กวัย 3-6 ขวบ มักจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนใกล้ชิดโดยไม่สามารถแยกแยะได้ควรหรือไม่ควรเลียนแบบพฤติกรรมอะไร ทำให้หลายครั้งลูกเผลอลอกเลียนพฤติกรรมไม่ดีของผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ เมื่อถูกตำหนิและต่อว่า ลูกจึงไม่เข้าใจว่าา ‘ทำไมคุณพ่อคุณแม่ยังทำได้เลย’ การทำให้ลูกเกิดความสงสัยโดยไม่ได้รับการอธิบายบ่อยครั้ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกเริ่มไม่อยากที่จะเชื่อฟังพ่อแม่อีกต่อไป

สิ่งที่ควรทำ: ลูกเรียนรู้จากการกระทำได้ดีกว่าคำพูด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นมากกว่าการออกคำสั่งว่าลูกควรทำอะไร หรือห้ามว่าไม่ควรทำอะไร

2. สอนด้วยคำพูด น้ำเสียง และสายตาแห่งความรัก

Howtoteachkid_web_2

เมื่อไรก็ตามที่ลูกทำผิด หรือไม่ทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอก คุณอาจจะอดไม่ได้ที่จะตะคอกลูกด้วยคำพูดแรงๆ และไม่สนใจฟังในสิ่งที่ลูกอยากอธิบาย การขึ้นเสียงหรือตะคอกอาจทำให้ลูกสงบลงได้ก็จริง แต่ในอนาคตลูกก็จะทำผิดซ้ำอีกอยู่ดี

สิ่งที่ควรทำ: เริ่มจากดึงความสนใจของลูกด้วยการ ‘เรียกชื่อลูก’ ใช้คำพูดง่ายๆ เพื่อให้ลูกทบทวนในสิ่งที่ทำผิด และใช้น้ำเสียงที่หนักแน่นแต่ไม่ดุดัน เช่น ถ้าลูกกำลังกินขนมอยู่และมีเศษขนมตกพื้น แทนที่พ่อแม่จะดุที่ลูกทำขนมหกหล่นลงพื้น ลองเปลี่ยนเป็นบอกทางป้องกันและแก้ปัญหา เช่น “ขนมที่หกลงพื้นแล้ว ลูกต้องเก็บไปทิ้งลงในถังขยะให้เรียบร้อยนะครับ และคุณแม่คิดว่าลูกควรเอาจานมารอง เพื่อขนมจะได้ไม่หกลงพื้นต่อไป”

นอกจากคำพูดกับน้ำเสียงแล้ว ภาษากายก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ลูกรับฟังมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรย่อตัวให้สูงเท่าลูก มองลูกด้วยสายตาแห่งรัก และตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูด

3. สอนด้วยการมีข้อตกลงร่วมกัน

Howtoteachkid_web_3

เด็กทุกคนมีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบของตัวเอง บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกทำสิ่งที่ไม่ชอบนานจนลูกต่อต้าน

สิ่งที่ควรทำ: เด็กวัย 2-3 ขวบ เป็นวัยแห่งการต่อต้าน การให้ข้อเสนอเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกัน ลดการโต้เถียงหรือการชวนทะเลาะลงได้ เช่น “ถ้าลูกช่วยแม่เก็บเสื้อผ้า แม่จะเล่านิทานให้ฟัง” หรือให้ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การลงโทษ เช่น “ถ้าไม่ทำแม่จะตี” เป็น “ถ้าช่วยแม่ พ่อกลับมาเราจะได้กินข้าวกันเร็วขึ้น”

4. สอนให้ลูกใช้ความคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

Howtoteachkid_web_4

ประโยคคำสั่ง อย่า! ไม่! ห้าม! ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง ทำอะไรก็ไม่ดี โดนห้ามตลอด ส่งผลต่อให้ลูกขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง กลายเป็นคนไม่มั่นใจ กลัวผิด และไม่กล้าที่จะคิดริเริ่มอะไรใหม่ๆ

สิ่งที่ควรทำ: ฝึกให้ลูกใช้ความคิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น “ไปเก็บของเล่นสิลูก” เป็น “ไหนลูกลองคิดสิว่า จะเอาตุ๊กตาตัวนี้ไปเก็บไว้ไหน รถของเล่นนี้ล่ะเอาไปไว้ไหนดี”

นอกจากนี้ควรหากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกันกับลูก เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกทำไม่ถูกต้อง จะได้สอนลูกให้คิดแก้ปัญหา และสอดแทรกเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปได้ด้วย

5. ฟังสิ่งที่ลูกต้องการจะบอก

Howtoteachkid_web_5

บางครั้งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คิดก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เพราะเด็กแต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง

สิ่งที่ควรทำ: ถามให้รู้ว่าลูกคิดอะไร ทำไปเพราะอะไร มีอะไรอยู่ในใจ และตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูดเพื่อช่วยให้ลูกผ่อนคลายความกังวล และค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของลูกให้ถูกต้อง

6. ไม่ใช้อารมณ์หรือเพิกเฉยความต้องการของลูก

Howtoteachkid_web_6

เด็กวัย 2-3 ขวบ ยังไม่สามารถฟังและทำตามคำสั่งหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ จนทำให้พ่อแม่ใช้อารมณ์กับลูกหรือไม่สนใจลูกเลย

สิ่งที่ควรทำ: คอยจับสังเกตว่าลูกต้องการสื่อสารอะไร อาจใช้วิธีถามซ้ำๆ เพื่อยืนยันในสิ่งที่ลูกทำ รวมถึงเมื่อต้องการให้ลูกทำอะไร พ่อแม่ควรพูดกับลูกให้ชัดเจน สั้น และกระชับใจความ

7. สอนด้วยการใช้เทคนิคที่เข้าใจง่าย

Howtoteachkid_web_7

เด็กอาจจะยังฟังประโยคยาวๆ หรือหลายคำสั่งพร้อมกันไม่เข้าใจ

สิ่งที่ควรทำ: ใช้เทคนิคสอนให้ลูกจำง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น “มีมือเอาไว้ช่วยเหลือ ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ตี” หรือ พูดให้ตื่นเต้นเร้าใจ เช่น “วันนี้ทำอะไรที่โรงเรียนบ้าง” เปลี่ยนเป็น “เล่าให้ฟังหน่อยวันนี้ทำอะไรสนุกสุด” และหลีกเลี่ยงคำว่า ‘ไม่’ หรือ ‘ห้าม’ เพราะทำให้ลูกไม่อยากทำตาม เช่น “ห้ามดื้อ” เปลี่ยนเป็น “แม่ชอบลูกตอนที่เชื่อฟังแม่ที่สุดเลย” นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจเปลี่ยนมาใช้การให้คะแนนหรือสติ๊กเกอร์ เพื่อให้ลูกมีเป้าหมายในการเชื่อฟังคุณมากขึ้น

8. หาสาเหตุของการไม่เชื่อฟัง

Howtoteachkid_web_8

ถ้าลูกเป็นเด็กเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่มาตลอด แต่บางครั้งที่ไม่เชื่อฟังอาจเป็นเพราะกำลังโกรธ เศร้าเสียใจ หรือต้องการให้พ่อแม่เอาใจมากขึ้น เช่น มีน้องเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ถูกกลั่นแกล้งหรือล้อเลียนตอนอยู่ที่โรงเรียน

สิ่งที่ควรทำ: พูดคุยและหาคำตอบสาเหตุที่ลูกไม่เชื่อฟัง และบอกรักลูก ให้ลูกเชื่อมั่นว่ามีพ่อแม่อยู่ข้างๆ เสมอ นอกจากนี้ควรสังเกตทัศนคติ วิธีคิด และการพูดของลูก เพื่อที่จะเข้าใจลูกมากขึ้น

 

 

 

 

อ้างอิง
Theasianparent
Amarinbabyandkids
Youtube
Helendoronrama9

Panitnun W.

'แพม' ไม่มีลูกเป็นของตัวเอง แต่รักเด็กเป็นชีวิตจิตใจ ว่างไม่ได้ต้องหาคลิปเด็กมาดู ถ้าได้ดูคลิปเด็กก่อนนอนนี่คือจะฟินมาก และที่ชอบมากอีกอย่างคือ แซลมอน ความฝันคือ ถ้ามีเงินจะเปิดฟาร์มแซลมอน

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST