READING

วิธีรับมือ 4 อาการผิดปกติของเบบี๋ ที่พ่อแม่เห็นแล้...

วิธีรับมือ 4 อาการผิดปกติของเบบี๋ ที่พ่อแม่เห็นแล้วไม่สบายใจ

ให้นมลูกอยู่ดีๆ ลูกก็แหวะนมออกมาเต็มไปหมด บางทีก็ร้องไห้ติดต่อกันหลายชั่วโมงกล่อมเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหยุด แถมบางทีก็สะอึกรัวๆ ทำเอาทั้งพ่อทั้งแม่วุ่นวายกันไปหมด เดี๋ยวสะอึก เดี๋ยวแหวะนม เดี๋ยวร้องไห้ไม่หยุด เฮ้อ… บางทีพ่อแม่ก็ได้แต่ถอนหายใจ เพราะไม่รู้จะจัดการกับอาการเหล่านี้ของลูกได้อย่างไร

แต่ไม่ต้องตกใจไปค่ะ เพราะอาการที่ดูเหมือนจะไม่มีที่มาที่ไปเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเบบี๋ทุกคน ด้วยระบบของร่างกายเด็กที่ยังไม่คุ้นชินกับนมแม่บ้าง สิ่งแวดล้อมรอบตัวบ้าง จึงทำให้เขาแสดงอาการออกมาในลักษณะต่างๆ ซึ่งอาการเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกหายและดีขึ้นได้

M.O.M ลองรวบรวม 4 อาการผิดปกติที่มักเกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็กบ่อยจนคุณพ่อคุณแม่ต้องกุมขมับ มาช่วยเป็นข้อมูลให้รู้วิธีจัดการกับอาการเหล่านี้ได้ด้วยความเข้าใจมากขึ้นค่ะ

1. สะอึก

babyabnormal_web_1

ส่วนใหญ่การสะอึกของเด็กทารกเกิดขึ้นเพราะการกินนมค่ะ เมื่อกินน้ำนมเข้าไปกระเพาะอาหารจะขยายตัวขึ้นจนเกิดแรงดันบริเวณกล้ามเนื้อกะบังลม ทำให้เกิดเป็นเสียงของกล้ามเนื้อหดตัวอย่างรวดเร็วขณะที่หายใจออก โดยอาการสะอึกนั้นเป็นเรื่องปกติและสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 4-5 เดือน อาการก็จะเริ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ

แต่เมื่อลูกสะอึกแล้ว วิธีที่จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กหายสะอึกได้ไวขึ้น คือ การทำให้เด็กเรอทุกครั้งหลังกินนมเสร็จ อาจใช้วิธีการพาดบ่าหรือนั่ง พร้อมกับใช้มือค้ำคางลูกเอาไว้

สำหรับผู้ใหญ่เราอาจเคยได้ยินว่า ถ้าสะอึกให้ใช้มือบีบจมูก ดื่มน้ำจากแก้ว หรือกลั้นหายใจ แต่ในเด็กเล็กแล้ว อย่าใช้วิธีเหล่านั้นเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการสะอึกรุนแรงขึ้นกว่าเดิม วิธีที่ดีที่สุดคือการทำให้เรอ จะช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้ดีที่สุด

2. แหวะนม

babyabnormal_web_2

อาการแหวะนมของทารก เกิดจากการ overfeeding หรือให้เด็กกินนมมากเกินไป จึงทำให้เด็กทำการสำรอกน้ำนมออกมา โดยภาวะ overfeeding นั้นคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้จากท้องที่ป่องผิดปกติ มีเสียงครืดคราดอยู่ในลำคอคล้ายเสมหะร่วมขณะเด็กแหวะนม

ถึงแม้การแหวะนมจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ควรมีความถี่ที่มากเกินไป และต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมเช่น เลือด น้ำสีเหลืองคล้ายน้ำดี หรือมีกลิ่นแรงผิดปกติ หากคุณพ่อคุณแม่พบสิ่งเหล่านี้ปนออกมาควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกันเพื่อช่วยให้ลูกไม่แหวะนมบ่อยจนเกินไป คือควรให้เด็กกินนมในปริมาณที่เหมาะสม เช่น เด็กอายุ 3 เดือน ควรกินความถี่ประมาณ 8-10 มื้อต่อวัน และเด็กอายุ 3-4 เดือนขึ้นไปก็ควรกินไม่เกิน 6 มื้อต่อวัน

3. ท้องอืด

babyabnormal_web_3

อยู่ๆ เจ้าตัวน้อยก็ร้องไห้โยเย บิดตัวไปมา งอแขน งอขา เหมือนปวดท้อง พอจับช่วงท้องก็ดูแข็งๆ เหมือนมีลมเยอะ อาจเป็นไปได้ว่าเบบี๋กำลังท้องอืดอยู่ได้ค่ะ

อาการท้องอืดเป็นอีกหนึ่งอาการที่เด็กเล็กเป็นกันบ่อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการกินนมมากเกินไป เกิดจากการกินนมขวดที่เด็กอาจดูดลมเข้าไปมากเกิน หรือแม้แต่ท่าคุณแม่ที่ให้นมลูกไม่ถูกต้องก็สามารถเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด ทำให้มีลมอัดแน่นเต็มท้อง นำความอึดอัดไม่สบายตัวมาให้ทารกเป็นอย่างมาก

วิธีการแก้ที่คุณแม่สามารถทำเองได้ง่ายๆ ก็คือการนวดไล่ลม โดยการนำเด็กพาดไว้บนบ่าค่อยๆ ลูบหลังเบา จากล่างขึ้นบน หรือจะให้เขานอนคว่ำบนตักแล้วลูบไล่ลม ตบหลังเบาๆ ก็ได้

4. อาการโคลิก

babyabnormal_web_4

เป็นอาการที่มักเกิดกับทารกในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังคลอด คือเด็กจะร้องไห้เสียงดังแหลมอย่างไร้สาเหตุเป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมง และมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมๆ เช่น เย็นถึงค่ำของทุกวัน

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการโคลิกได้ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าอาจเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุรวมกัน ไม่ว่าจะการหดเกร็งของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร การถูกรบกวนจากแสงไฟ เสียง หรือแม้แต่พื้นฐานอารมณ์ของตัวเด็กเองที่มีผลมาจากอารมณ์พ่อแม่ เป็นต้น

แม้อาการโคลิกจะทำให้เจ้าตัวน้อยร้องห่มร้องไห้เสียงดังไม่หยุด แต่อาการเหล่านี้จะเริ่มดีขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 3-4 เดือน แต่หากเด็กมีอาการร้องไห้กระสับกระส่าย อุ้มแล้วตัวอ่อนปวกเปียก ไม่ยอมกินนม อึเป็นเลือดร่วมด้วย ให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

 

 

 

 

อ้างอิง
maerakluke
theasianparent
pobpad
motherandcare

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST