READING

5 วิธี ไม่ปล่อยให้ลูกโตมาพร้อมนิสัยกล้าทำแต่ไม่กล้...

5 วิธี ไม่ปล่อยให้ลูกโตมาพร้อมนิสัยกล้าทำแต่ไม่กล้ารับ

กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ

เราทุกคนล้วนมีสัญชาตญานในการปกป้องตัวเองให้พ้นผิด และมักแสดงออกด้วยการปฏิเสธความจริง กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ และโยนความผิดให้คนอื่น พฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ดังที่ Roberts, Ph.D., นักจิตวิทยาแห่งเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายเอาไว้ว่า เพราะเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจความจริงที่ว่าเราทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ เด็กๆ จึงคิดว่าการไม่ยอมรับและโยนความผิดให้คนอื่น จึงเป็นวิธีที่จะหลีกเลี่ยงผลที่จะตามมา เช่น การถูกลงโทษ หรือโดนคุณพ่อคุณแม่ต่อว่าได้ดีที่สุด

ทางด้าน Betsy Brown Braun ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและพฤติกรรมในแปซิฟิกพาลิเซดส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า เด็กๆ มักจะกลัวปฏิกิริยาเชิงลบจากผู้ปกครอง และอยากให้คุณพ่อคุณแม่ยิ้มให้มากกว่าที่จะเห็นใบหน้าที่โกรธขึงบึงตึง เมื่อพวกเขาทำบางอย่างผิดพลาด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเคยชินกับนิสัยกล้าทำไม่กล้ารับและโยนความผิดให้คนอื่นต่อไปเรื่อยๆ จากพฤติกรรมอาจกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวลูกไปจนโต ส่งผลต่อการเป็นที่ยอมรับและการใช้ชีวิตในสังคมได้

อย่ารอให้สายเกินแก้ เพราะคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้รู้จักยอมรับความผิดของตัวเอง เพื่อที่จะเรียนรู้และแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วย 5 วิธี ต่อไปนี้

1. เปิดโอกาสให้ลูกเป็นเจ้าของการกระทำตัวเองอย่างแท้จริง

กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ

กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ของลูก มักเกิดจากการจัดการของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้บางครั้งลูกอาจรู้สึกเหมือนถูกบังคับหรือคอยกำหนดให้ทำสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ Christine Carter นักสังคมวิทยาจากซานฟรานซิสโก ให้ความเห็นว่า ที่เด็กๆ รู้สึกอึดอัด เป็นไปได้ว่าเพราะทุกอย่างในความคิดของเขามีสคริปต์ของคุณพ่อคุณแม่ควบคุมอยู่ ส่งผลให้ลูกอาจไม่รู้ว่า เขาเองก็มีความคิดเป็นของตัวเองและกำหนดพฤติกรรมของตัวเองได้

เพื่อให้ลูกเป็นเจ้าของความคิดและการกระทำของตัวอย่างแท้จริง คาร์เตอร์แนะนำคุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและทำอะไรด้วยตัวเอง และเมื่อลูกทำผิดพลาด คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องให้ลูกผู้เป็นเจ้าของการกระทำนั้นยอมรับผลที่จะตามมา ด้วยการให้ลูกได้เรียนรู้ที่หาวิธีแก้ไขด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยแนะนำและสอนให้ลูกรู้ว่าความผิดพลาดไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่จำเป็นต้องได้รับการยอมรับและเรียนรู้ที่จะแก้ไขต่อไป

2. สอนให้ลูกเชื่อมโยงการกระทำและผลที่จะตามมา

กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ

อีกวิธีที่ใช้ได้ผลดีในเด็กโตก็คือ การยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เหมือนดังที่ Rachel Robertson ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและการพัฒนา สถาบัน Bright Horizons Family Solutions ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ยกตัวอย่างการเชื่อมโยงสิ่งที่ลูกทำกับผลลัพธ์ที่ตามมา เช่น เพราะลูกกระโดดลงไปในแอ่งน้ำ เสื้อผ้าของลูกจึงเปียก หรือเพราะลูกพยายามเรียนอย่างหนัก ลูกจึงคว้าเกรด 4 มาได้ทุกวิชา

รวมทั้งฝึกให้ลูกหาผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ ผ่านคำถามปลายเปิด เช่น ถ้าพรุ่งนี้แม่ตื่นสาย ลูกคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือถ้าแม่ทำแก้วแตก ลูกคิดว่าแม่ควรจะทำยังไง เพื่อให้ลูกได้ฝึกกระบวนการคิดถึงผลลัพธ์ก่อนที่จะลงมือทำอะไรเสมอ

3. ใช้สีหน้าและท่าทีที่เป็นปกติ เมื่อลูกทำผิด

กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ

หลายครั้งที่ลูกไม่กล้ายอมรับความผิด เป็นเพราะไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่อารมณ์เสีย หรือแสดงสีหน้าหรือแววตาที่ดุดันใส่เขาโดยอัตโนมัติ

คาร์เตอร์แนะนำว่า เมื่อลูกทำผิด คุณพ่อคุณแม่ควรปรับสีหน้าและท่าทีให้เป็นปกติให้มากที่สุด เพื่อแสดงลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะอยู่ข้างๆ ลูกเสมอ และเมื่อลูกรู้สึกปลอดภัย ลูกก็จะเปิดใจและกล้าพูดความจริงกับคุณพ่อคุณแม่ และนี่คือสัญญาณที่ดีที่ทำให้ลูกรู้จัก ‘การยอมรับผิด’ มากยิ่งขึ้น

4. กล่าวคำชมเชยทุกครั้ง เมื่อลูกกล้ายอมรับผิด

กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ

คำแนะนำของ John G. Miller เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความรับผิดชอบส่วนบุคคล และผู้เขียนหนังสือ Flipping the Switch: Unleash the Power of Personal Accountability Using the QBQ! ระบุว่า คุณพ่อคุณแม่ควรให้โอกาสลูกที่ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง มากที่สุดเพียงสามครั้งเท่านั้น และทุกครั้งที่ลูกกล้ายอมรับความผิดของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรชื่นชมในความกล้าหาญของลูกเสมอ

5. ให้ดาวเด็กดี เป็นคูปองแลกของรางวัล

กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ

เพื่อให้การสอนลูกในแต่ละครั้งมีความสุข คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีให้ดาวเด็กดีเป็นรางวัล ด้วยการกำหนดให้การยอมรับความผิด กล้าทำและกล้ารับ เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ลูกจะได้รับดาวเด็กดีเป็นรางวัลเช่นเดียวกับการทำความดีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลืองานบ้าน ดูแลตัวเอง หรือทำความระเบียบวินัยได้ดี และเมื่อสะสมดาวได้ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ก็จะมีรางวัลพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ให้ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และซึมซับทักษะชีวิตนี้ไว้ใช้ต่อไปในอนาคต

อ้างอิง
parents

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST