ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุ จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่อุบัติเหตุก็มักจะมาพร้อมกับความสูญเสียที่หลายคนคาดไม่ถึง
ไม่มีใครรู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ความไม่ประมาท การมีสติ และทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน ก็เป็นสิ่งที่พอจะช่วยลดความสูญเสียให้น้อยลงได้ ข่าวการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการพลัดตกเรือและจมน้ำถึงแก่ชีวิต อาจทำให้หลายคนเริ่มกังวลใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่เคยสอนให้ลูกรู้วิธีป้องกันและช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด
เราจึงรวบรวมวิธีป้องกันและเอาตัวรอดจากการจมน้ำ หรือพลัดตกเรือขณะโดยสาร เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูกน้อยเตรียมความพร้อมไว้รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนี้
1. สวมเสื้อชูชีพขณะนั่งเรือตลอดเวลา
เมื่อต้องโดยสารเรือ หลายคนมักจะละเลยการสวมเสื้อชูชีพ เพราะรู้สึกว่าอึดอัด เกะกะ แล้วไม่คล่องตัว และไม่คิดว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่ความจริงแล้ว หากเกิดอุบัติเหตุพลัดตกจากเรือหรือเรือล่ม ไม่ว่าจะว่ายน้ำเป็นหรือไม่ก็ตาม เสื้อชูชีพจะช่วยให้เราพยุงตัวอยู่ในน้ำได้นานถึง 3-6 ชั่วโมง และหากเป็นเสื้อชูชีพคุณภาพดีอาจช่วยให้ลอยตัวอยู่ได้นานกว่านั้นอีกหลายชั่วโมงเลยทีเดียว
ดังนั้น ก่อนขึ้นเรือ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าบนเรือมีเสื้อชูชีพสภาพดี และควรมีนกหวีดติดไว้เพื่อเป่าเรียกขอความช่วยเหลือ
หากมีเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมเสื้อชูชีพสำหรับเด็กไปเอง เพื่อให้ลูกได้ใส่เสื้อชูชีพขนาดพอดีตัว และที่สำคัญคือต้องล็อกเสื้อชูชีพให้ครบทุกจุด เพราะหากสวมไว้เฉยๆ เสื้ออาจพลัดหลุดระหว่างจมน้ำได้
2. กระจายน้ำหนักขณะนั่งบนเรือ
ในกรณีที่นั่งเรือร่วมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะเรือขนาดเล็ก เช่น เรือสปีดโบ๊ต ควรกระจายน้ำหนักในการนั่งเรือให้พอดี ไม่นั่งหรือยืนในบริเวณเดียวกันเยอะๆ ไม่ควรยืนบริเวณท้ายเรือ ไม่ควรยืนขณะที่เรือกำลังแล่นหรือยังไม่เทียบท่า เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกเรือและตกน้ำได้
3. หากพลัดตกจากเรือ ให้ว่ายน้ำหรือพาตัวเองออกจากตัวเรือให้เร็วที่สุด
หากพลัดตกเรือ หรือเกิดเหตุเรือล่ม ควรพยายามว่ายน้ำออกห่างจากเรือและใบพัดเรือให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือ
และหากเป็นไปได้ ให้พยายามคว้าสิ่งของที่ลอยน้ำได้ เพื่อพยุงตัวรอการช่วยเหลือ ไม่ควรฝืนว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง เพราะอาจหมดแรง หรือเป็นตะคริวระหว่างว่ายน้ำ ทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นได้
4. ฝึกพยุงตัวให้ลอยเมื่อในน้ำและมีสติอยู่เสมอ
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกมั่นใจว่า การลอยตัวในน้ำสามารถทำได้ทุกคน แม้แต่คนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ขอเพียงแค่มีสติ ไม่ตกใจลนลาน ก็จะค่อยๆ พยุงตัวเองให้ลอยคออยู่ในน้ำเพื่อรอความช่วยเหลือได้
การลอยตัวในน้ำ สามารถทำได้โดยใช้แขนและขาทั้งสองข้าง ตีน้ำไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
• ท่าที่ 1: นอนหงายให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจเอาอากาศเข้าปอดก็ได้ อย่าเกร็งตัว ให้ใช้มือทั้งสองข้าง กวาดน้ำเบาๆ ส่วนขาทั้งสองข้าง ให้ถีบน้ำคล้ายๆ กับท่าของกบ ท่านี้คนว่ายน้ำไม่เป็นก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีที่น้ำเชี่ยวให้เปลี่ยนมาเป็นท่าลอยคว่ำหน้า ไม่เกร็งตัว และเงยหน้าขึ้นมาสูดอากาศเข้าปอดเป็นครั้งคราว
• ท่าที่ 2: นอนหงาย กางแขนกางขาออก (ลักษณะเหมือนปลาดาว) พยายามนอนนิ่งๆ ให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำ ใช้แขนทั้งสองข้าง กดลงน้ำแล้วกวาดออกไปด้านข้าง ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีกครั้ง คล้ายๆ กับการวาดเลขแปดในน้ำ พร้อมกับถีบขาเบาๆ โดยไม่ต้องพับเข่ามากนัก ท่านี้จะทำให้เราสามารถลอยตัวและยกแขนขึ้นเพื่อโบกมือขอความช่วยเหลือได้ด้วย
5. ห้ามว่ายทวนน้ำเด็ดขาด
ถึงแม้จะเป็นคนที่ว่ายน้ำได้ แต่การพยายามว่ายน้ำที่ลึกและเชี่ยวจะทำให้เหนื่อยและหมดแรงได้ง่าย ที่สำคัญคือไม่ควรว่ายสวนทิศทางน้ำเด็ดขาด ควรว่ายตามแนวคลื่นเพื่อพยายามเข้าใกล้ฝั่ง หรือตลิ่งให้มากที่สุด และควรหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เช่น ขยะ ผักตบชวา ฯลฯ เนื่องจากอาจเข้ามาพันตัวเราได้ อีกทั้งไม่ควรว่ายเข้าใกล้สะพาน เพราะมักเป็นจุดที่มีกระแสน้ำวน
6. ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือและประคองตัวเอง
สิ่งสำคัญที่เด็กๆ ควรจะรู้ คือเมื่อตกจากเรือ ควรส่งสัญญาณของความช่วยเหลือให้คนอื่นรับรู้และหาทางประคองตัวเองจนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ ด้วยวิธีดังนี้
• ตั้งสติและพยุงตัวเองให้อยู่ในท่าที่สามารถร้องตะโกนขอความช่วยเหลือได้
• เป่านกหวีดที่ติดมากับเสื้อชูชีพ
• ทำสัญลักษณ์โบกมือขึ้น-ลงเหนือศีรษะ
• ปลดสิ่งของในตัวที่ถ่วงน้ำหนักออก
ทั้งนี้ หากพบเห็นคนตกเรือ ตกน้ำ หรือจมน้ำ ให้รีบโยนสิ่งของที่สามารถเกาะเพื่อพยุงตัวได้ลงไปให้ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยางชูชีพ ถังแกลลอน ฯลฯ และโทร. แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยเพื่อรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
แจ้งอุบัติเหตุทางน้ำ โทร 1196
หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669
FYI: ดาวน์โหลดคู่มือการเตรียมตัวให้รอดปลอดภัยพิบัติ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมไว้สอนเด็กๆ ให้รู้วิธีรับมือกับภัยพิบัติอื่นๆ ได้ ที่นี่ (https://www.disaster.go.th/upload/download/file_attach/58cb60f5607de.pdf)
COMMENTS ARE OFF THIS POST