READING

ลูกกลัวความสูง: 5 วิธีช่วยคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและรับ...

ลูกกลัวความสูง: 5 วิธีช่วยคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและรับมือ เมื่อลูกกลัวความสูง

ลูกกลัวความสูง

เมื่อลูกเติบโตถึงวัยหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเริ่มสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มมีอาการไม่ชอบขึ้นบันได บันไดเลื่อน และลิฟต์ ไม่ชอบให้อุ้ม ไม่ชอบเล่นเครื่องเล่นที่มีความสูง ไม่ชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสูง เช่น ภูเขา น้ำตก หน้าผา แล้วเริ่มสงสัยว่านี่คืออาการกลัวความสูง หรือเปล่า…

โรคกลัวความสูง (Acrophobia) เป็นหนึ่งในกลุ่มประเภทของโรคกลัว หรือ Phobia ซึ่งนับเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง และสามารถพัฒนาได้โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เช่น เกิดจากการที่ลูกมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับความสูง ไม่ว่าจะเป็นเคยคนอื่นตกจากที่สูง เคยตกจากที่สูง หรือมีประสบการณ์ด้านลบขณะอยู่บนที่สูง รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมก็มีบทบาทสำคัญต่ออาการ ลูกกลัวความสูง ได้

สังเกตอาการลูกกลัวความสูง

อาการลูกกลัวความสูง ที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ง่ายคือ ลูกพยายามหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นที่สูง หากเลี่ยงไม่ได้ ลูกก็จะมีอาการวิตกกังวล เหงื่อออก วิงเวียน ใจสั่น หายใจลำบาก และอาจหมดสติได้

โรคกลัว (Phobia) สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดทางพฤติกรรม (behavioral therapy) และการบำบัดด้วยยา (pharmacotherapy) แต่หากมีอาการไม่รุนแรง หรือสามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยการเลี่ยงสถานการณ์และสิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งความกลัวได้ง่าย ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตัวเองให้อยู่ร่วมกับโรคกลัวและเกิดอาการน้อยที่สุดได้

วิธีรับมือสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกกลัวความสูง

1. บอกสถานการณ์ที่ลูกต้องเจอล่วงหน้า

Acrophobia_web_1

หากต้องพาลูกไปเจอสถานการณ์หรือพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับความสูง คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูกได้เตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้า โดยอาจพูดคุยเพื่อให้ให้ลูกมั่นใจว่าจะไม่เกิดอันตราย และคุณพ่อคุณแม่จะคอยอยู่ใกล้ๆ ลูกเสมอ

แต่ถึงอย่างนั้น หากในสถานการณ์จริงลูกยังมีความกลัว ร้องไห้ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกเดินออกมาให้พ้นจากตรงนั้น โดยไม่ตำหนิหรือต่อว่า และให้เวลาลูกสงบสติอารมณ์ตัวเองสักพัก

สิ่งสำคัญก็คือ หากลูกยังไม่พร้อมที่จะเผชิญความสูงนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรบังคับให้ลูกเอาชนะความกลัวให้ได้ เพราะจะยิ่งกดดันและทำให้ลูกรู้สึกกลัวมากขึ้นได้

2. ไม่อุ้มลูก

Acrophobia_web_2

เวลาที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกกลัว มักจะพยายามยกตัวลูกขึ้นมาอุ้ม แต่ความเป็นจริง การอุ้มหรือพยายามยกตัวลูกขึ้นจากพื่นอาจทำให้ลูกรู้สึกอยู่สูงมากกว่าเดิม และหวาดกลัวมากขึ้น

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรคุกเข่าหรือย่อตัวลงให้เท่ากับความสูงลูก และโอบกอดเพื่อปลอบและรอจนกว่าลูกจะพร้อมให้เดินจูงมือออกมาพร้อมกัน

3. ทำภารกิจพิชิตความกลัว

Acrophobia_web_3

ภารกิจพิชิตความกลัว ไม่ใช่การพาลูกไปอยู่บนที่สูงเพื่อสยบความกลัว แต่คือการช่วยให้ลูกคุ้นชินกับความสูงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการใช้ภารกิจง่ายๆ ในบ้าน เช่น ให้ลูกยืนบนเก้าอี้เพื่อช่วยคุณแม่เก็บของ เมื่อลูกทำได้ ค่อยเพิ่มความสูงของภารกิจมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงกิจกรรมนอกบ้าน เช่น พาลูกขึ้นบันไดเลื่อน หรือลิฟต์ ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากการขึ้นลงกับคุณพ่อคุณแม่และสอนให้ลูกหาวิธีหรือตำแหน่งที่ยืนแล้วจะทำให้รู้สึกกลัวน้อยที่สุด

4. ไม่ทำให้ลูกรู้สึกแปลกแยก

Acrophobia_web_4

คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกเข้าใจความกลัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ละคนอาจจะมีสิ่งที่กลัวแตกต่างกันไป เช่น ลูกกลัวความสูง แต่คุณแม่ก็กลัวความมืดและที่แคบเช่นกัน

การไม่ทำให้ลูกรู้สึกผิดหรือแปลกแยกในความกลัวของตัวเอง จะช่วยให้ลูกเปิดใจและปรับตัวให้อยู่กับความกลัวหรือเอาชนะความกลัวด้วยความคิดเชิงบวกได้

5. แสดงความเข้าใจและไม่เพิกเฉยต่อความกลัวของลูก

Acrophobia_web_5

โดยทั่วไป เมื่อลูกโตขึ้นก็จะสามารถรับมือและเข้าใจความกลัวของตัวเองมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคิดเหมาว่าเมื่อลูกโตขึ้นแล้วจะเลิกกลัวได้เอง

แต่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุยและถามความรู้สึก เช่น ลูกยังกลัวความสูงหรือเปล่า อาการมากขึ้นหรือน้อยลง และลูกมีวิธีรับมืออย่างไร เพื่อแสดงว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและไม่เพิกเฉยต่อความกลัวของลูก แม้ว่าลูกจะโตขึ้นแล้วก็ตาม

อ้างอิง
medicalnewstoday
housepsych

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST