READING

ลูกวัยเลี้ยงยาก : เตรียมรับมือเด็ก 8 ขวบ วัยแห่งกา...

ลูกวัยเลี้ยงยาก : เตรียมรับมือเด็ก 8 ขวบ วัยแห่งการเลี้ยงยาก!

ลูกวัยเลี้ยงยาก

คุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งรับมือกับช่วงวัยทอง 2 ขวบของลูกมาแล้ว อาจจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือช่วงวัยที่เลี้ยงยากที่สุด

แต่เมื่อลูกโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็จะพบว่า ลูกวัยเลี้ยงยาก ไม่ได้มีแค่ช่วงสองขวบ โดยเฉพาะลูกช่วงวัย 8 ขวบ หรือวัยเด็กตอนกลางที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ทำให้ลูกวัย 8 ขวบ ขึ้นชื่อว่าเป็น ลูกวัยเลี้ยงยาก ที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต เด็กเลี้ยงยากที่สุด เพราะเป็นวัยที่ลูกเริ่มต้องการความอิสระและทำอะไรตามใจตัวเอง จนกล้าเริ่มแสดงความไม่พอใจ และความเกรี้ยวกราดออกมาอย่างชัดเจน เช่น ถอดหายใจแรงๆ กระแทกประตู กลอกตา โต้เถียง ต้องการแสดงตัวตนของตัวเอง และเมินเฉยต่อคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ ผลการสำรวจจาก OnePoll ชองผู้ปกครองเด็กวัยเรียน 2,000 คน ยอมรับว่า ลูกวัย 8 ขวบเป็นช่วงที่เลี้ยงยากที่สุด อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายมากที่สุด และส่งผลต่ออารมณ์ที่ทรงพลังของคุณพ่อคุณแม่ได้มากที่สุด ทั้งยังยอมรับว่าลูกแปดขวบไม่ใช่ ‘เด็ก’ อีกต่อไป แต่กำลังเป็น ‘เด็กโต’ อย่างเต็มตัว

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อีกไม่นานลูกก็จะต้องเติบโตไปสู่วัย 8 ขวบที่ขึ้นชื่อเรื่องความแสบ เราจึงชวนคุณพ่อคุณแม่มาซ้อมรับมือลูกวัยแปดขวบ ด้วยการสร้างความเข้าใจและเตรียมใจล่วงหน้ากันดีกว่าค่ะ

1. พ่อแม่ต้องอดทน (กับลูก) ให้มากกว่าที่เคย

Age8_web_1

Mary Ann Little, PhD นักจิตวิทยาคลินิก อธิบายว่า เด็กวัยนี้เติบโตขึ้นมาก ร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉง พัฒนาการด้านสติปัญญาก็ก้าวกระโดด มีทักษะด้านการคำนวณและขีดเขียน เข้าใจเหตุผล และความเป็นไปของสิ่งต่างๆ มีความคิดเติบโตขึ้น รู้จักเรื่องคุณธรรม เริ่มเรียนรู้เรื่องค่านิยม ต้องการเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะในกลุุ่มเพื่อน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรับมืออย่างแรกก็คือ ต้องอดทนกับลูกให้มากๆ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่าลูกกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านตามวัย และหาทางรับมืออย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เด็ก 8 ขวบก็มีพัฒนาการที่ดีในด้านอื่นโดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเองที่ทำได้ดีขึ้น ดูแลร่างกายของตัวเองได้ดี เข้าใจเรื่องเวลาและการรอคอย รู้จักรักษาน้ำใจของผู้อื่นมากขึ้น ดังนั้น นอกจากอดทนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมจุดเด่นของลูก เพื่อให้การอยู่กับช่วงวัย 8 ขวบของลูกเป็นไปอย่างสงบสุขมากขึ้น

2. งด ‘กำกับ’ ให้ทำ แต่เป็น ‘การแนะนำ’ ให้เลือก

Age8_web_2

Marquita Davis ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการของ KinderCare อธิบายว่า ลูกวัย 8 ขวบกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของตัวเองเป็นอย่างมาก แม้ว่าร่างกายภายนอกจะดูเติบโต แต่ภายในยังคงเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่กำลังเติบโตและยังรับมือกับตัวเองได้ไม่ดีนัก

วิธีที่จะช่วยลูกวัยนี้ก็คือฝึกสอนและให้คำแนะนำกับลูก แทนกำกับและสั่งให้ลูกทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการสอนเรื่องสำคัญในชีวิต เช่น วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องใช้ไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมความเป็นอิสระให้ลูกอย่างถูกทาง เช่น ปล่อยให้เลือกของใช้ส่วนตัวเอง ได้มีเวลาอยู่กับเพื่อนฝูงทั้งในและนอกโรงเรียนอย่างเต็มที่ เล่นอย่างเต็มที่ ยิ้มหัวเราะอย่างสุดใจ เพื่อเป็นเสมือนแบตเตอรี่สำรองไว้ในวัยที่ลูกเติบโต

3. กำหนดการใช้โซเซียลมีเดียอย่างจริงจัง

Age8_web_3

มีผลการสำรวจเด็กกว่า 32,000 คน ในเวลส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรพบว่า เด็กอายุ 7-8 ปี ใช้โซเซียลมีเดียเป็นประจำ ทั้งยังระบุว่าเกือบครึ่งหนึ่งเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นโซเซียลมีเดียแทบทุกวัน ทั้งยังมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองกว่า 43 เปอร์เซ็นต์

โซเซียลมีเดียจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กวัยนี้เป็นอย่างมาก  รวมทั้งค่านิยมต่างๆ ที่มาพร้อมกับโซเซียลมีเดีย ที่อาจเป็นส่วนสำคัญทำให้ชีวิตของเด็กวัยที่กำลังเรียนรู้และพยายามจะเป็นผู้ใหญ่ มีความบิดเบี้ยวและยากขึ้นกว่าเดิม

Emily van de Venter จากสาธารณสุขเวลส์ ยืนยันว่า คุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งคุณครู จะต้องตระหนักถึงการใช้โซเซียลมีเดียในเด็กให้มากยิ่งขึ้น คอยอธิบายและพูดคุยเรื่องภัยอันตรายในรูปแบบบออนไลน์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกอยู่เสมอ สามารถเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้โซเซียลมีเดียอย่างเหมาะสม และถูกทาง พร้อมสร้างข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้การเข้าใช้เทคโนโลยีเป็นไปในทางที่ถูกต้อง

4. ยังคงกอดและบอกรัก (แม้ว่าลูกจะดื้อแค่ไหนก็ตาม)

Age8_web_4

เมื่อเด็ก 8 ขวบ มีความวายป่วงอยู่ในตัวเอง บางครั้งลูกอาจทำเหมือนต้องการผลักไสคุณพ่อคุณแม่ แต่ในขณะเดียวกันยังต้องการคุณพ่อคุณแม่เหมือนเด็กคนเดิม ยังต้องการคำพูดที่ดี แม้ในวันที่ลูกจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา

หากนึกไม่ออกว่าจะต้องรับมืออย่างไร ให้นึกย้อนไปในช่วงวัยที่ลูกเริ่มหัดเดิน ใช้วิธีเหล่านั้นกับลูกวัยแปดขวบอีกครั้ง ใส่ใจความรู้สึกของลูก เข้าใจอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงราวกับพายุดีเปรสชั่น ยอมรับว่าลูกอยากเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจยังเป็นเด็กที่ต้องการแค่เพียงอ้อมกอด ความรัก และความเชื่อมั่นจากคุณพ่อคุณแม่เสมอ

อ้างอิง
3armedmomster
mother.ly
parents.com
bbc.com

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST