READING

ลูกหงุดหงิดง่าย: 4 วิธีรับมือลูกขี้หงุดหงิด...

ลูกหงุดหงิดง่าย: 4 วิธีรับมือลูกขี้หงุดหงิด

ลูกหงุดหงิดง่าย

หนึ่งในปัญหาของลูกที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต่างต้องกุมขมับ นั่นก็คือช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับอารมณ์ ลูกหงุดหงิดง่าย งอแงโวยวายเสียงดัง ยิ่งคุณพ่อคุณแม่พยายามใจเย็น ปลอบประโลมมากเท่าไร ลูกก็เหมือนได้ใจ ยิ่งหงุดหงิด แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว และรุนแรงมากขึ้น

แม้คุณพ่อคุณแม่จะพอเข้าใจว่าสาเหตุที่ ลูกหงุดหงิดง่าย ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมตามช่วงวัยที่มักจะรุนแรงเมื่อลูกอายุ 2-3 ปี แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีวิธีรับมือพฤติกรรมของลูกอย่างถูกต้อง จากอาการหงุดหงิดง่ายตามช่วงวัย อาจกลายเป็นนิสัยใจร้อน เอาแต่ใจ ขี้โมโห รอคอยไม่เป็น ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมไม่น่ารัก ที่ติดตัวไปจนโตได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีวิธีรับมือและตอบสนองอาการหงุดหงิดง่ายของลูกอย่างถูกต้อง

4 วิธีรับมือ ลูกขี้หงุดหงิด

1. ไม่ระเบิดอารมณ์ใส่ลูก

AngryOutbursts_web_1

อาการหงุดหงิดในเด็กเล็ก เกิดจากลูกยังมีพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ไม่เต็มที่ ทำให้ลูกไม่สามารถบอกหรืออธิบายความต้องการของตัวเองให้คนอื่นเข้าใจได้ เกิดความหงุดหงิด งอแง และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเอง จนกลายเป็นการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาได้สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความเข้าใจ และควบคุมสติอารมณ์ของตัวเอง ไม่ตอบสนองลูกด้วยพฤติกรรมเชิงลบ เช่นดุด่า ตะคอก หรือลงโทษลูกด้วยวิธีรุนแรง เพราะการระเบิดอารมณ์ ดุด่า หรือลงโทษในขณะที่ลูกกำลังอาละวาดอยู่นั้นจะยิ่งทำให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมรุนแรงจากคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย

2. สำรวจความเครียดของลูก

AngryOutbursts_web_2

บางครั้งอาการหงุดหงิดง่ายของลูก ก็เกิดจากลูกมีความเครียด มีเรื่องไม่สบายใจ หรือกังวลใจอยู่ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตและหาสาเหตุความเครียดของลูก เช่น ลูกเรียนมากเกินไป เข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้ หรือมีความกดดันอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสภาพอารมณ์และจิตใจของลูก แล้วช่วยลูกแก้ปัญหา เพื่อลดความเครียด คลายความวิตกกังวล ก็จะช่วยให้อาการหงุดหงิดและทำให้ลูกมีจิตใจที่แจ่มใสอีกด้วย

3. ไม่เอาใจลูกมากเกินไป

AngryOutbursts_web_3

คุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจว่าอาการหงุดหงิดของลูกเกิดจากลูกถูกขัดใจ ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อไม่อยากให้ลูกหงุดหงิดงอแง จึงพยายามเอาใจ ตามใจ และรีบตอบสนองลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ในทางกลับกัน หากคุณพ่อคุณแม่แก้ปัญหาด้วยการตามใจและเอาใจลูกมากเกินไป จะกลายเป็นการส่งเสริมและทำให้ลูกเข้าใจว่าการแสดงความหงุดหงิดหรือไม่พอใจ จะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการจากคนรอบข้างเสมอ

4. ชวนลูกมาจัดการความโกรธด้วยกัน

AngryOutbursts_web_4

เวลาที่ลูกหงุดหงิด โกรธ หรือโมโห อีกหนึ่งวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาใช้รับมือกับอารมณ์ของลูกได้ก็คือ ชวนลูกมาจัดการความโกรธ เช่น เมื่อลูกหงุดหงิด คุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูกละเลงสีบนกระดาษ หรือพากันออกไปทำกิจกรรมที่ได้ปลดปล่อยพลังนอกบ้าน

เมื่ออารมณ์คุกรุ่นของลูกสงบลง คุณพ่อคุณแม่ค่อยใช้เวลาหลังจากนั้นพูดคุย สะท้อนอารมณ์ และแนะนำวิธีการแสดงออกที่เหมาะสมให้ลูกต่อไป

นอกจากนี้ หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกสามารถสงบและจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น เช่น ค่อยๆ อธิบายความต้องการของตัวเอง หรือควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ก็อย่าลืมชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ลูกนำไปใช้ในครั้งต่อไปด้วยนะคะ

อ้างอิง
nhs
empoweringparents
dmh

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST