คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่เคย โมโหลูก เพราะการเลี้ยงดูลูกน้อย อบรมสั่งสอน และพยายามปลูกฝังสิ่งดีๆ นั้น อีกนัยหนึ่งก็เหมือนบททดสอบความอดทนอดกลั้นของคุณพ่อคุณแม่ไปด้วย
แม้ว่าการโกรธหรือโมโหลูกจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่การจัดการอารมณ์ที่กำลังคุกรุ่น และท่าทีที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกต่อลูกต่างหากที่สำคัญ
เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ ก็อาจจะกลายเป็นพ่อแม่ที่โมโหร้ายในสายตาลูก นอกจากจะไม่ทำให้ลูกเชื่อฟังแล้ว ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์และสภาพจิตใจของลูกอีกด้วย
1. เข้าใจและยอมรับอารมณ์ของตัวเอง
การยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง เป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจและสัมพันธ์ที่ดีกับตนเองและผู้อื่น ไม่เว้นแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มรู้สึกโกรธ โมโห และไม่พอใจในตัวลูก แทนที่จะเอาความโกรธทั้งหมดไปเกรี้ยวกราดใส่ลูก ลองกลับมารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และบอกความรู้สึกนั้นกับลูก เช่น ลูกกำลังทำให้คุณแม่โกรธ แม่จะขอเวลาสงบสติอารมณ์สักสิบนาที แล้วจะกลับมาคุยกับลูกอีกครั้ง
2. พูดคุย ระบายความเครียดออกมาบ้าง
เมื่อรู้สึกกังวล อึดอัด หรือเก็บอะไรไว้ในใจจนกลายเป็นความเครียดที่สะสม คุณพ่อคุณแม่ควรหาทางระบายความเครียดด้วยการพูดคุย หรือขอคำปรึกษาจากเพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง หรือกลุ่มพ่อแม่ที่เข้าอกเข้าใจ
3. พัฒนาทักษะการรับมือกับความเครียด
การจัดการกับความกังวลและความเครียดเป็นทักษะสำคัญในการสร้างความสุขในชีวิตประจำวัน คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกทักษะการรับมือความเครียดได้ด้วยการสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ นั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การบีบลูกบอลยางยืดหยุ่น ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วนให้คุณพ่อคุณแม่คลายเครียดได้
4. เปลี่ยนความโมโหร้ายเป็นการแสดงความรัก
หากสังเกตให้ดีแล้ว หลายครั้งที่ความโกรธและโมโหร้ายใส่ลูก ล้วนมาจากการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงและกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับลูก เช่น เมื่อคุณแม่ห้ามไม่ให้ลูกออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านคนเดียว แต่ลูกไม่เชื่อฟัง สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือคุณแม่โมโหใส่ลูกและต่อว่าลูกรุนแรงด้วยความเป็นห่วง
แต่สิ่งที่ควรทำก็คือ คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนความโมโหร้ายเป็นการแสดงความรักและสื่อสารความรู้สึกห่วงใยออกมา พร้อมอธิบายเหตุผลว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องห้ามและไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อลูกไม่เชื่อฟัง ก็เป็นเพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับลูก เมื่อลูกเข้าใจเหตุผลมากขึ้น ก็จะเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นตามไปด้วย
COMMENTS ARE OFF THIS POST