อ้วน! ดำ! หัวฟู! ผมหยิก! ไอ้แว่น! และอีกสารพัดคำล้อเลียนความแตกต่างที่ผู้ใหญ่รุ่นเราได้ยินและคุ้นเคยมาตั้งแต่วัยเด็ก หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่นธรรมดา
ในขณะที่ปัจจุบัน สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิของเพื่อนมนุษย์ และต่อต้านการเหยียด (Anti Racism) ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ สีผิว รูปร่าง เชื้อชาติ ศาสนา หรือความแตกต่างทางสังคม ซึ่งหมายรวมถึงการล้อเลียนและพูดจาถากถางไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
แล้วการเหยียดเกิดจากอะไร…
เด็กเรียนรู้การล้อเลียนปมด้อยหรือความแตกต่างของคนอื่นได้อย่างไร
คำตอบก็คือ เด็กจะเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างทางร่างกายของตัวเองและคนอื่นได้ตั้งแต่วัยประมาณ 2-3 ขวบ ซึ่งเป็นการมองเห็นความแตกต่างด้วยสายตาที่บริสุทธิ์ และเต็มไปด้วยสงสัยใคร่รู้มากกว่าที่จะมองเห็นว่าเป็นเรื่องตลกที่ต้องนำมาล้อเลียนกัน
แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากคุณพ่อคุณแม่ไม่รีบปลูกฝังความเข้าใจและสอนให้ลูกรู้จักเคารพความแตกต่างของคนอื่น ก็เป็นไปได้ว่าลูกจะเติบโตขึ้นมาในสังคมที่หล่อหลอมให้เข้าใจว่าการเหยียดหรือล้อเลียนปมด้อยของคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งอาจทำให้ลูกไม่รู้จักวิธีปฏิบัติตัวกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสอนลูกอย่างไร M.O.M มีวิธีมาแนะนำค่ะ
1. สอนให้ลูกเข้าใจว่าความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา
คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าความแตกต่างของทุกคนบนโลกเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสีผิว รูปร่าง ทรงผม ภาษา ศาสนา และอีกหลายอย่างที่ลูกอาจจะยังไม่เคยพบมาก่อน
คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สถานการณ์ง่ายๆ ในการยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจได้ เช่น เวลาที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ลองให้ลูกสังเกตผลไม้ชนิดเดียวกัน ยังมีหลายสายพันธุ์ มีความแตกต่างทั้ง รูปร่าง ขนาด และสีสัน ดังนั้นคนเราก็ย่อมมีความแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นจึงไม่ควรล้อเลียนหรือมองความแตกต่างของคนอื่นเป็นเรื่องขบขัน
2. หาโอกาสให้ลูกได้เจอกลุ่มคนที่หลากหลาย
คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสพาลูกไปเข้าสังคมเพื่อพบปะผู้คนที่หลากหลาย เช่น การเข้าเพลย์กรุ๊ปจะทำให้ลูกมีโอกาสได้เจอเด็กต่างชาติต่างภาษา ได้เจอคนที่รูปร่างหน้าตา และพฤติกรรมแตกต่างจากคนในบ้าน และจะทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าการมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างจากตัวเองเป็นเรื่องผิดปกติ
3. สอนให้ลูกรู้จักใจเขาใจเราและคิดก่อนพูดเสมอ
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกนึกถึงจิตใจคนอื่น ลองยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น ถ้าลูกโดนเพื่อนล้อว่าอ้วน เตี้ย หรือไม่น่ารัก ลูกจะรู้สึกชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เพราะฉะนั้นก่อนที่จะพูดเหยียดหรือล้อเลียนคนอื่น ลองคิดว่าถ้าเป็นตัวเองจะรู้สึกอย่างไรก่อนเสมอ
4. บอกว่าอะไรคือพฤติกรรมที่ไม่ดี และทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังพฤติกรรมที่ตัวเองแสดงออกต่อคนอื่น รวมถึงสังเกตช่องทางการเสพสื่อของลูก เพราะเป็นไปได้ว่าลูกอาจจะไปเห็นตัวอย่างการเหยียดกันเป็นเรื่องสนุกในสื่อบันเทิงต่างๆ แล้วจดจำมาเป็นพฤติกรรมของตัวเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า บางคำพูดหรือพฤติกรรมที่ลูกเห็นในสื่อ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับคนอื่นในชีวิตจริงได้
5. ไม่ใช้วิธีการชมเชยลูกด้วยการทำให้ลูกรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กมีนิสัยชอบเหยียดหรือล้อเลียนคนอื่นก็คือ เข้าใจว่าตัวเองเหนือกว่าและดีกว่า ซึ่งความเข้าใจที่ผิดนี้เกิดขึ้นได้จากการที่คุณพ่อคุณแม่ตามใจ ให้ท้าย หรือชมลูกผิดวิธี เช่น ลูกผิวขาวจึงน่ารักกว่าเด็กคนอื่น หรือเพราะลูกน่ารัก คุณครูจึงรักลูกมากกว่าคนอื่น เพราะสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมเป็นความเข้าใจผิดติดตัวลูกต่อไป
6. สอนให้ลูกรู้ว่าอะไรคือเรื่องอ่อนไหวที่ควรระวังเป็นพิเศษ
เรื่องที่อ่อนไหวหรือกระทบกระเทือนจิตใจได้ง่ายของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนไม่โกรธเมื่อถูกล้อเลียนรูปลักษณ์ภายนอก แต่อาจไม่พอใจมากเมื่อถูกล้อเรื่องบุคลิกภาพ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ไม่ควรมีการล้อเลียนหรือเหยียดกันในระดับสากล เช่น เรื่องเพศ ศาสนา ความเชื่อ และสีผิว คุณพ่อคุณแม่จึงควรบอกให้ลูกเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ
COMMENTS ARE OFF THIS POST