ปัจจุบันปัญหาทางจิตเวชไม่ใช่เรื่องไกลตัวทุกคนเหมือนสมัยก่อน เพราะสังคมเริ่มเปิดใจยอมรับ ทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับการหาสาเหตุรวมถึงวิธีแก้ไขปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ
แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองข้ามไป ก็คือปัญหาทางจิตเวชไม่ได้เกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กๆ ก็สามารถเจ็บป่วยด้วยอาการของโรคทางจิตเวชได้เช่นเดียวกัน และหากพูดถึงโรคทางจิตเวชที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ก็คงจะหนีไม่พ้นโรคซึมเศร้า แต่เราอยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่ มาทำความรู้จักโรควิตกกังวล (anxiety disorders) ซึ่งถือเป็นโทางจิตเวชที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเด็กๆ และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กๆ ไม่น้อย
โรควิตกกังวล (anxiety disorders) คืออะไร

โรควิตกกังวล คือหนึ่งในโรคทางจิตเวช ที่เกิดได้จากสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูและทางพันธุกรรมโดยปกติแล้วเด็กจะรู้สึกตื่นเต้น กังวล และประหม่าเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ เช่น ไปโรงเรียนหรือ เจอคนแปลกหน้าได้ แต่หากท่าทางวิตกกังวลของลูกดูไม่มีทีท่าว่าจะหายไปง่ายๆ หรือกังวลซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือมีอาการข้างเคียงที่แสดงออกทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง ไม่มีสมาธิ และอาการนั้นเริ่มส่งผลต่อการช้ชีวิตประจำวัน ก็อาจเป็นสัญญาณว่าลูกอาจกำลังเสี่ยงกับการเป็นโรควิตกกังวลได้
อาการของโรควิตกกังวลเป็นอย่างไร

โรควิตกกังวล (anxiety disorders) แบ่งได้เป็น 5 ประเภท ซึ่งจะมีลักษณะของอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
-
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder ) จะมีลักษณะของการกังวล และเครียดในเรื่องทั่วไป เช่น ไปโรงเรียน เพื่อน ครอบครัว แต่ความเครียดที่เล็กน้อยจะค่อยๆ สะสมจนกระทั่งทำให้ร่างกายเกิดการนอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา และร้องไห้ง่าย
-
- โรคแพนิก (Panic Disorder) อาการแพนิกคืออาการกังวลในบางสิ่งอย่างรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ จนทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน ตัวสั่น เหงื่อออก ร้อนๆ หนาวๆ อาการนี้จะเกิดขึ้นไม่นานและหายเองได้ แต่จะสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
-
- โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias) โฟเบียคืออาการหวาดกลัวบางอย่างแบบเฉพาะเจาะจง อาจเป็นสถานที่ สถานการณ์ หรือบางสิ่งบางอย่าง เช่น กลัวความมืด กลัวการไปโรงเรียน กลัวเสียงฟ้าร้อง ฯลฯ ซึ่งลักษณะการกลัวจะกลัวมากๆ จนอาจแสดงอาการตัวสั่น ร้องไห้ อาเจียน และมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยง ไม่อยากพบเห็น
-
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) คนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ จะชอบย้ำทำสิ่งหนึ่งซ้ำๆ เพราะไม่มั่นใจว่าเคยลงมือทำไปแล้วหรือยัง หรือกลัวว่าจะทำไม่เรียบร้อย เช่น ล้างมือซ้ำๆ เพราะกังวลว่าล้างครั้งเดียวจะไม่สะอาด หรือตรวจเช็กของในกระเป๋าตลอดเวลา เพราะกลัวว่าจะหยิบมาไม่ครบ
-
- โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กพบเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจต่างๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุ ถูกทำร้ายร่างกาย คนใกล้ตัวเสียชีวิต ฯลฯ ซึ่งอาจกลายเป็นคนเงียบไม่พูดไม่จา ตกใจและหวาดกลัวง่าย กังวลว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นซ้ำอีก หรือหวาดกลัวสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงนั้นๆ
สาเหตุของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลในเด็ก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากพันธุกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจมีประวัติเคยป่วยเป็นโรควิตกกังวล รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ทำให้ลูกเครียดและไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้ เช่น ย้ายบ้านหรือโรงเรียนบ่อยๆ พ่อแม่ทะเลาะกัน การบาดเจ็บหนักจากจากอุบัติเหตุ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ถูกทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่ภาวะสมาธิสั้น (ADHD) ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กจะมีปัญหาเกี่ยวกับความวิตกกังวลได้
วิธีการรักษา

การรักษาโรควิตกกังวล จิตแพทย์จะต้องดูถึงสาเหตุและที่มาที่ทำให้เกิดโรค หรือเด็กมีปัญหาอะไรทำให้กังวลจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และประเมินร่วมกับอายุของเด็ก เพื่อเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด
โดยมากแพทย์มักจะเลือกใช้การรักษาและการบำบัดด้วยความรู้ความเข้าใจพฤติกรรม (CBT) เน้นไปที่การพูดคุยเปลี่ยนวิธีคิด พฤติกรรม เพื่อให้เด็กเข้าใจและจัดการรับมือกับความวิตกกังวลได้ด้วยตัวเอง
แต่หากมีอาการหนักจนไม่สามารถบำบัดได้จากการพูดคุย จิตแพทย์ก็จำเป็นต้องใช้ยาช่วยรักษาต่อไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST