READING

ไส้ติ่งอักเสบในเด็ก ความเจ็บปวดในช่องท้องที่อันตรา...

ไส้ติ่งอักเสบในเด็ก ความเจ็บปวดในช่องท้องที่อันตรายกว่าที่คิด

ไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis) เป็นความเจ็บป่วยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังก็คือ เมื่อลูกมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน ที่เกิดจาก ไส้ติ่งอักเสบ แต่ไม่ได้รับการตรวจหรือวินิจฉัยทันที จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไส้ติ่งเน่าและแตก จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

David Bundy หัวหน้าทีมวิจัยและกุมารแพทย์ที่ศูนย์เด็ก Johns Hopkins Children’s Center ให้ข้อมูลว่า อาการไส้ติ่งอักเสบที่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี 80 เปอร์เซ็นต์ จะจบลงที่ภาวะไส้ติ่งแตก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวินิจฉัยที่ล่าช้าทำให้เด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากอะไร

ไส้ติ่ง คือส่วนของลำไส้ที่ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น และประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของอาการ ไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากการบวมของต่อมน้ำเหลืองส่วนโคนไส้ติ่ง ทำให้โพรงไส้ติ่งอุดตัน และอีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการมีเศษอาหารหรืออุจจาระอุดตันในโพรงไส้ติ่ง

ไส้ติ่งที่อักเสบจึงมีลักษณะบวม แดง และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว ก็จะเกิดการเน่าและแตก ทำให้มีหนองในช่องท้อง เกิดการติดเชื้อขึ้นและลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้

อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ

อาการแรกที่จะเห็นได้ชัดคือ อาการปวดท้อง เริ่มจากตรงกลางแล้วเคลื่อนไปทางขวาด้านล่างของช่องท้อง แต่ในเด็กที่อายุน้อยอาจระบุตำแหน่งที่เจ็บปวดอย่างเฉพาะเจาะจงได้ยาก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอื่นของลูกเพิ่มเติม ดังนี้

• มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไม่อยากกินอาหาร

• มีไข้ต่ำ

• บางรายอาจมีอาการท้องเสียหรือถ่ายอุจจาระเหลวโดยไม่ทราบสาเหตุ

การรักษาไส้ติ่งอักเสบ

บางครั้งไส้ติ่งอักเสบในเด็กอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ไส้ติ่งอักเสบจะรักษาให้หายขาดได้การผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องและผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง (laparotomy)

เด็กส่วนใหญ่จะฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็ว เช่น เด็กที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องควรงดการวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายประมาณ 3-5 วัน เด็กที่ได้รับการผ่าตัดเปิดช่องท้อง ควรพักผ่อน 10-14 วัน จึงเริ่มกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติ

(อ่านบทความเกี่ยวกับ อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินในเด็ก เพิ่มเติม)

อ้างอิง
hopkinsmedicine
my.clevelandclinic
kidshealth

Guest Writer

นักเขียนรับเชิญ (แทบ) ไม่ซ้ำหน้า ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวที่ (แทบ) ไม่ซ้ำใคร

COMMENTS ARE OFF THIS POST