READING

ลูกชอบเถียง: 4 เหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่เคยรู้ ว...

ลูกชอบเถียง: 4 เหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่เคยรู้ ว่าทำไมลูกเถียงคำไม่ตกฟาก

ลูกชอบเถียง

พอลูกเริ่มช่างพูดคุยช่างเจรจาพอให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกชื่นใจได้ไม่เท่าไร ก็ต้องเตรียมใจพบปัญหา ลูกชอบเถียง ที่ชวนให้ปวดหัวตามมาเสมอ

คุณพ่อคุณแม่อาจนึกแปลกใจว่าลูกไปเรียนรู้นิสัยช่างเถียงและชอบเถียงมาจากไหน แต่ความจริงแล้ว การเถียง เป็นหนึ่งในพัฒนาการที่เด็กวัย 3-5 ปี จะได้ฝึกฝนกระบวนการคิดของตัวเองอีกด้วย

Dr. Russell Barkley ผู้แต่งหนังสือ Your Defiant Child: 8 Steps to Better Behavior ให้ข้อมูลไว้ว่า เด็กวัยก่อนเรียน หรือในช่วงอายุ 3-5 ปี เป็นวัยที่กำลังมีการพัฒนาทักษะทางการสื่อสารเป็นอย่างมาก เด็กช่วงวัยนี้จึงพยายามใช้การพูด เพื่ออธิบายและแสดงความต้องการของตนเองแทนการร้องไห้เหมือนครั้งที่ยังเป็นทารก

มาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจพอทำความเข้าใจได้ว่าที่เคยคิดแปลกใจว่าทำไม ลูกชอบเถียง มันเป็นเพราะลูกอยากลองใช้การพูดเพื่ออธิบายทุกอย่างให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจนี่เอง

แต่ว่า… เหตุผลที่ลูกชอบเถียงไม่ได้มีเท่านี้หรอกค่ะ เราลองมาทำความเข้าใจสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ลูกวัยช่างพูดช่างคุย กลายเป็นเด็กช่างเถียงกันดูดีกว่า

1. ลูกต้องการเป็นที่ยอมรับ

Argumentative_web_1

เด็กในวัยช่างพูดจะเริ่มมีความคิดและเหตุผลของตัวเอง และเมื่อลูกพูดเพื่ออธิบายความคิดของตัวเองออกมา แล้วคุณพ่อคุณแม่คัดค้านหรือปฏิเสธ ลูกจึงพยายามพูดซ้ำๆ และพูดมากขึ้น ก็เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ยอมรับในความคิดเห็นนั้น

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อลูกพยายามอธิบายความคิดและเหตุผลของตัวเองก็คือ การไม่ตอบสนองคำอธิบายของลูกด้วยการตำหนิ หรือแสดงอาการไม่เห็นด้วยทันทีทันใด เพราะเมื่อลูกรู้สึกว่าคำพูดของตัวเองไม่เป็นท่ียอมรับ ก็จะยิ่งพยายามพูดและเริ่มใช้อารมณ์ตอบโต้จนการอธิบายเริ่มกลายเป็นการเถียงนั่นเอง

2. ลูกกำลังเลียนแบบพฤติกรรมที่พบมา

Argumentative_web_2

สิ่งแวดล้อมมีผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกเสมอ การพูดจาโต้เถียงก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ลูกอาจนำมาจากพฤติกรรมของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นท่าทางของคุณพ่อคุณแม่ที่เผลอเถียงกันต่อหน้าลูกโดยไม่รู้ตัว ได้ยินจากการพูดโทรศัพท์ และจากสื่อต่างๆ

การเลียนแบบพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เช่น ลูกจดจำลักษณะการโต้เถียงแบบใช้อารมณ์มาจากโทรทัศน์ แต่คุณพ่อคุณแม่แนะนำว่า หากลูกโต้เถียงด้วยเหตุผล ค่อยๆ เรียบเรียงคำพูดอย่างมีสติ และไม่ใช้อารมณ์ ก็มีโอกาสที่อีกฝ่ายจะเข้าใจได้ง่ายกว่า

3. ลูกไม่เข้าใจความหมายของคำพูด   

Argumentative_web_3

แม้ลูกจะเริ่มสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว แต่การใช้ภาษาของอาจจะตรงไปตรงมา สั้น และห้วนเกินไปสักหน่อย นั่นเป็นเพราะลูกยังไม่สามารถเรียบเรียงคำพูดให้ออกมาเป็นประโยคที่น่าฟังได้ หรือเป็นเพราะลูกยังไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูดออกไปดีพอ เช่น เมื่อลูกพูดว่า ไม่อยากทำ ลูกควรอธิบายด้วยเหตุผลที่แท้จริงมากกว่าการบอกว่า ไม่อยากทำเฉยๆ

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักเลือกใช้คำพูดหรือเรียบเรียงคำอธิบายให้น่าฟังมากขึ้นได้ ด้วยการลองให้ลูกเปลี่ยนรูปแบบประโยค เช่น เวลาที่ลูกอยากบอกว่า ‘หนูไม่ชอบแบบนั้น’ ลูกลองเปลี่ยนเป็นการบอกว่า ‘หนูคิดว่าแบบนี้ก็น่าจะดีนะคะ’ เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีสื่อสารความคิดตัวเองให้ออกมาน่ารักและน่าฟังมากขึ้นได้ค่ะ

4. อุปนิสัยพื้นฐานของลูก

Argumentative_web_4

แม้การเถียงจะเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้ แต่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นว่าเด็กในวัยเดียวกัน แต่ละคนก็มีวิธีโต้ตอบหรือแสดงออกที่แตกต่างกัน เช่น เด็กบางคนจะรีบโต้เถียง เมื่อรู้สึกไม่เห็นด้วย แต่เด็กบางคนก็นิ่งเฉยคล้ายเชื่อฟัง แต่ก็ไม่ได้ทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอกแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นเพราะเด็กแต่ละคนมีอุปนิสัยที่มาจากการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน

คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความรู้จักและเข้าใจนิสัยพื้นฐานของลูกก่อน และหาวิธีปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมกับตัวตนของลูก เช่น ลูกมีนิสัยช่างพูด ช่างคิด ช่างสงสัย คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรปิดกั้นลูกด้วยการออกคำสั่งไม่ให้ลูกแสดงความคิดเห็น แต่ควรสอนให้ลูกรู้จักการตั้งคำถามหรือข้อสงสัยที่เหมาะสม สุภาพ และไม่ก้าวร้าวคนอื่น หรือหากพบว่าลูกมีนิสัยหัวอ่อน ไม่กล้าออกความคิดเห็น และไม่มั่นใจในตัวเอง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องสอนให้ลูกกล้าพูดและกล้าที่จะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจมากขึ้น

 

— อ่านบทความ: 4 ข้อดีของการยอมปล่อยให้ลูกเถียง
อ้างอิง
Parents
raisingchildren

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST