คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัย 3-5 ปี ขอให้เข้าใจว่า นี่คือ วัยแห่งการเป็นนักสำรวจ ที่อยากรู้จักและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
และนี่คือช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมรับมือกับ ลูกช่างถาม ที่สงสัยทุกอย่าง และตั้งคำถามทุกสิ่ง จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เหนื่อยที่จะตอบหรือหาคำตอบดีๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกไม่ได้ เลยใช้วิธีตอบแบบขอไปทีบ้าง ปฏิเสธที่จะตอบบ้าง หรือหนักที่สุดก็คงจะเป็นใช้อารมณ์หรือต่อว่าเพื่อให้ลูกหยุดถาม
แต่ความจริงแล้ว การที่คุณพ่อคุณแม่มีท่าทางหรือพฤติกรรมไม่ดีเมื่อลูกตั้งคำถาม อาจเป็นการปิดกั้นพัฒนาการ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้
ดังนั้น เพื่อให้ช่วงเวลาที่ ลูกช่างถาม มีประโยชน์ต่อพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือกับนักสำรวจตัวน้อยนี้อย่างไร เรามีคำตอบค่ะ
1. ตอบคำถามด้วยคำตอบที่เข้าใจง่าย
แม้ว่ากรอบการตั้งคำถามของลูกจะกว้างใหญ่แค่ไหน แต่การตอบคำถามให้เด็กเล็กเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วยหลักการหรือเหตุผลยากๆ แต่สามารถใช้การยกตัวอย่างหรือเปรียบเทียบให้ลูกคิดตามได้
นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งและจริงจังแค่ไหน เช่น บางครั้งลูกอาจถามในเรื่องที่ไม่ได้อยากรู้ แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่หันมาคุยด้วยเท่านั้น
2. ไม่หงุดหงิด ต่อว่า หรือแสดงอาการรำคาญ เมื่อลูกตั้งคำถาม
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงออกว่าเบื่อ รำคาญ ต่อว่า หรือรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่จะต้องตอบคำถามลูก เพราะการแสดงท่าทีเช่นนั้น หรือแม้แต่การใช้น้ำเสียงเชิงตำหนิเพื่อบอกให้ลูกหยุดถาม จะทำให้ลูกมีทัศนคติไม่ดีต่อการตั้งคำถาม ไม่กล้าที่จะสงสัย หรือเรียนรู้เรื่องใหม่ ซึ่งจะเป็นการขัดขวางพัฒนาการทางสมองของลูก และทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้าคิดและตั้งคำถามต่อไปได้
3. ตอบคำถามปลายเปิด หรือตอบเพื่อชวนให้ลูกคิด
ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่ควรจะตอบคำถามลูกด้วยคำตอบที่เข้าใจง่าย แต่การตอบคำถามที่ดีจะช่วยกระตุ้นให้ลูกนำไปคิดและวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้ เช่น หลังจากตอบสิ่งที่ลูกอยากรู้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีตั้งคำถามกลับ หรือตั้งคำถามต่อยอดจากสิ่งที่ลูกถาม เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ความคิดและฝึกการวิเคราะห์ในแบบของตัวเอง ก่อนที่จะช่วยอธิบายให้ลูกเข้าใจมากขึ้นได้
4. ไม่ตอบคำถามอย่างขอไปที
บ่อยครั้งที่ลูกอาจถามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้คำตอบ แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรตอบอย่างขอไปที หรือให้คำตอบที่ไม่จริงและไม่มีทางเป็นไปได้ เช่น เมื่อลูกถามว่าตัวเองเกิดมาได้อย่างไร แม้ยากที่จะอธิบายแต่ก็ไม่ควรตอบว่าลูกเกิดมาจากไม้ไผ่ เพราะนอกจากจะทำร้ายจิตใจลูกแล้ว ยังส่งผลทำให้ลูกมีความเข้าใจผิดๆ ฝังใจได้
ดังนั้น ถ้าลูกมีคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าจะตอบอย่างไรดี อาจบอกลูกตามตรงว่าคำถามของลูกยากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ต้องขอเวลาเพื่อไปหาคำตอบและวิธีอธิบายให้ลูกเข้าใจก่อน
5. ตอบด้วยการพาลูกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง
บางคำถาม คุณพ่อคุณแม่อาจให้คำตอบได้ด้วยการพาลูกไปลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น เมื่อลูกสงสัยว่าว่าต้นไม้โตขึ้นได้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่อาจลองชวนลูกปลูกต้นไม้ของตัวเอง บอกวิธีการดูแลต้นไม้ แล้วให้ลูกเฝ้าสังเกตการเจริญเติบโตต้นไม้นั้น วิธีนี้ ถึงแม้ว่าลูกอาจจะไม่ได้คำตอบที่ต้องการในทันที แต่ผลของมันจะสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งให้กับลูกได้ดีเลยทีเดียว
COMMENTS ARE OFF THIS POST