โรคหอบหืด (Asthma) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมร่วมกับมีภาวะหลอดลมตีบแคบฉับพลัน และไวต่อสารกระตุ้นต่างๆ ทำให้มีอาการไอ หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก และออกซิเจนในเลือดต่ำ
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ ลูกเป็นหอบหืด มากขึ้น เพราะปัจจุบัน ในประเทศไทย พบโรคหอบหืดในเด็กมากถึง 10–15% และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และเมื่อลูกต้องโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรจะแจ้งให้คุณครูรู้ว่า ลูกเป็นหอบหืด เพื่อให้คุณครูช่วยคอยสอดส่องดูแล และสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักวิธีรับมือกับโรคหอบหืดเบื้องต้นด้วยตัวเอง เมื่ออาการของโรคกำเริบขึ้นด้วย
1. สอนให้ลูกเข้าใจอาการของโรค

ขั้นแรก คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกทำความรู้จักโรคของตัวเอง โดยเริ่มจากการนิยามอาการของลูก เช่น เมื่อลูกมีอาการแพ้ รู้สึกระคายเคืองผิวหนัง ต้องสอนให้ลูกรู้ว่าอาการนั้นเรียกว่า ‘คัน’ หรือหากลูกรู้สึกไม่สบายตัวบริเวณลำคอหรือหน้าอก รู้สึกอึดอัดบริเวณอก ต้องสอนให้ลูกรู้ว่า นั่นคืออาการ ‘หายใจไม่ออก’ รวมถึงการสอนให้ลูกรู้ว่า อาการเหล่านี้เกิดจากการสัมผัส การดมหรือการกินสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของลูก หลีกเลี่ยงการอธิบายด้วยคำศัพท์ยากๆ หรือศัพท์ทางการแพทย์จนกว่าลูกจะโตถึงวัยที่เหมาะสม
2. อย่ากลัวการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่

เมื่อลูกสามารถอธิบายอาการของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝากฝังลูกเอาไว้ในความดูแลของครูประจำชั้น และบอกให้ลูกกล้าบอกอาการเจ็บป่วยของตัวเองกับคุณครู ทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณครูยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือลูกอย่างเต็มที่
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดี อาจเริ่มจากการเขียนโน้ตอธิบายอาการของโรคและวิธีระงับอาการหอบหืดให้ลูกพกติดตัวไว้ และนำไปให้คุณครู เมื่อลูกรู้สึกผิดปกติทันที
3. กำชับให้ลูกพกยาประจำตัวเสมอ

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักวิธีกินยาและใช้ยาพ่น เมื่ออาการกำเริบ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยและจดจำช่วงเวลาที่ต้องกินยาด้วยตัวเอง โดยไม่ตื่นตกใจ และต้องไม่ลืมให้พกยาติดตัว กินยาตามเวลา และสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ
4. สอนให้รู้จักสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นย้ำและระบุหน้าตาของสิ่งที่กระตุ้นให้ลูกเกิดอาการแพ้และหอบหืดให้ลูกรู้ เพื่อให้ลูกรู้ข้อจำกัดของตัวเอง และรู้ว่าต้องหลีกเลี่ยง ‘สิ่งอันตราย’ อะไรบ้าง
และคุณพ่อคุณแม่ต้องกำชับลูกให้กล้าปฏิเสธ หรืออธิบายเหตุผลของตัวเอง เมื่อมีคนพยายามชวนหรือเกลี้ยกล่อมให้ลูกเข้าใกล้หรือกินอาหารที่ลูกแพ้อีกด้วย
5. หมั่นล้างมืออย่างถูกวิธี

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกล้างมือก่อน-หลังรับประทานอาหาร รวมถึงหมั่นล้างมือหลังทำกิจกรรมต่างๆ จนติดเป็นนิสัย เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือสารกระตุ้นอาการที่อาจปนเปื้อนบนมือโดยที่ลูกไม่รู้ตัวนั่นเอง
COMMENTS ARE OFF THIS POST