คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยนึกน้อยใจ ทำไมบางครั้งลูกดูเหมือนจะรักและเชื่อฟังคนอื่นมากกว่า หรือทำไมลูกคนอื่นถึงดูรักและผูกพันกับพ่อแม่ของตัวเองมาก
นั่นเป็นเพราะรูปแบบความสัมพันธ์ที่ก่อตัวตั้งแต่ลูกยังเล็ก มีผลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรม ความคิด และการเข้าสังคมของลูกในอนาคต รูปแบบนี้เรียกว่า Attachment Style หรือรูปแบบความผูกพันนั่นเอง
โดยรูปแบบของความผูกผัน จะเป็นไปตาทฤษฎีความผูกพัน หรือ Attachment Theory ที่ริเริ่มโดยจอห์น โบลว์บี (John Bolwby) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ ผู้เชื่อว่าการเลี้ยงดูที่เราได้รับในวัยตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี เป็นตัวกำหนดการแสดงออกและการตอบสนองต่อความสัมพันธ์ในอนาคต รวมทั้งส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัยและความเชื่อมั่นในตัวเองด้วย
หากคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจแต่ละลักษณะของ Attachment Style ได้ ก็จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ปรับวิธีการเลี้ยงดูให้สอดคล้องกับรูปแบบความผูกพันของลูก ทำให้สามารถปรับจูน เข้าใจ และสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่กับลูกได้ดียิ่งขึ้น
รูปแบบความผูกพันมีอะไรบ้าง
1. ความผูกพันมั่นคง (Secure Attachment)

เด็กที่มีความผูกพันที่มั่นคงจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ปรับตัวได้ดี และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ง่าย เกิดจากการได้รับความรักและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง ทำให้รู้สึกปลอดภัยพร้อมที่จะแสดงความรู้สึกต่างๆ ทั้งบวกและลบอย่างตรงไปตรงมา
แนวทางการส่งเสริมลูก: เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีตั้งแต่ต้น ลูกจึงมีสภาพจิตใจที่ดี สนิทกับคุณพ่อคุณแม่ แต่บางครั้งลูกอาจติดนิสัยพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสให้ลูกได้สำรวจและเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อเสริมทักษะการพึ่งพาตัวเอง
2. ความผูกพันแบบวิตกกังวลและต่อต้าน (Anxious Attachment)

เด็กกลุ่มนี้จะต้องการการเอาใจใส่แทบจะตลอดเวลา และมักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรืองอแง เพื่อเรียกร้องความสนใจ เพราะมีความกลัวลึกๆ ว่าคุณพ่อคุณแม่จะทอดทิ้งหรือไม่อยากอยู่ด้วย ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดจากการไม่ได้รับความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจยุ่งอยู่กับงานจนไม่มีเวลาและลืมใส่ใจความรู้สึกของลูก
แนวทางปรับการเลี้ยงลูก: สร้างความไว้ใจให้มากขึ้น ด้วยการตอบสนองต่อความต้องการลูกอย่างสม่ำเสมอและอ่อนโยน แม้ลูกจะแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลาและอดทน
3. ความผูกพันแบบหมางเมิน (Dismissive-avoidan Attachment)

เด็กที่โตมากับรูปแบบความผูกพันแบบหมางเมิน จะไม่ชอบความใกล้ชิด มักจะพยายามหาพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง เก็บความรู้สึกและปัญหาที่เกิดขึ้นไว้ ไม่ยอมบอกคุณพ่อคุณแม่ พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากการที่ความต้องการของลูกไม่ได้รับการตอบสนอง หรือถูกปฏิเสธบ่อยครั้ง ทำให้เกิดกำแพงกับครอบครัว
แนวทางปรับการเลี้ยงลูก: ควรเคารพพื้นที่ส่วนตัวของลูก และหาจังหวะที่เหมาะสมพูดคุยกับลูก ใส่ใจลูกมากขึ้น รวมถึงแสดงความรักในแบบที่ลูกจะรู้สึกสบายใจอย่างสม่ำเสมอ
4. ความผูกพันแบบหวาดกลัว (Fearful-avoidant Attachment)

รูปแบบความผูกพันนี้เกิดขึ้นจากการที่เด็กต้องเผชิญความบอบช้ำทางจิตใจหรือร่างกาย เช่น ถูกละเลย ถูกทอดทิ้ง หรือถูกลงโทษที่รุนแรงและไม่เหมาะสม ส่งผลให้มีบุคลิกก้าวร้าว เก็บตัว หรือมีภาวะซึมเศร้าได้
แนวทางปรับการเลี้ยงลูก: คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยเปิดใจกับลูก รวมถึงหยุดการลงโทษที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจลูก เช่น การตะคอก ขู่ หรือการใช้กำลัง หากลูกทำผิดลองใช้การทำโทษเชิงบวก หรือวิธี Time-in หรือ Time-outTime-out แล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผล และแสดงความรักต่อลูกให้ชัดเจนและสม่ำเสมอมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST