READING

ภาวะออทิสติกเทียม : และ 3 สาเหตุที่อาจทำให้ลูกกลาย...

ภาวะออทิสติกเทียม : และ 3 สาเหตุที่อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขาดการกระตุ้น

ภาวะออทิสติกเทียม

Dr. Marius Zamfir แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคลินิค เผยว่า ในปัจจุบันเด็กในช่วง 1 ปีแรก มีความเสี่ยงที่จะเป็น ภาวะออทิสติกเทียม มากขึ้น ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้ลูกมีนิสัยติดหน้าจอ และการที่ลูกไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการเท่าที่ควร

ภาวะออทิสติกเทียม คืออะไร ? แตกต่างจากออทิสติกแท้อย่างไร?

ภาวะออทิสติกเทียม คือ ภาวะที่เด็กขาดการกระตุ้นพัฒนาการ ให้เหมาะสมตามช่วงวัย ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ต้องอาศัยการกระตุ้น ส่งเสริม และการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกไม่ว่าจะการเล่นหรือพูดคุยเกิดความล่าช้ากว่าเกณฑ์ปกติ จนทำให้ลูกเกิดภาวะออทิสติกเทียมได้

ส่วน ออทิสติกแท้ (Autism Spectrum Disorder) จัดอยู่ในกลุ่มโรค ที่เรียกว่า PDDs หรือความบกพร่องทางพัฒนาการแบบรอบด้าน [Pervasive Developmental Disorders; PDDs] ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง มากกว่าปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือการเลี้ยงดู แต่ความผิดปกติของสมองทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคม ทักษะทางภาษาได้ตามวัย จนเกิดเป็นลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น

สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ออทิสติกแท้ เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเหนือการควบคุมของคุณพ่อคุณแม่ แต่ออทิสติกเทียมนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อม หรือการเลี้ยงดู ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกน้อยของเราได้นะคะ

ลักษณะอาการของภาวะออทิสติกเทียม

VirtualAutism_web_1

ช่วงอายุ 6 เดือน – ไม่ยิ้ม ไม่สบตา หรือไม่แสดงอารมณ์ เมื่อคุณพ่อคุณแม่คุยด้วย

ช่วงอายุ 9 เดือน – ไม่ส่งเสียง ยิ้ม แสดงสีหน้า ไม่มีการตอบโต้ต่อผู้คุย

ช่วงอายุ 12 เดือน – ไม่หันหาเสียงเรียก มักจะแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เล่นของ   เล่นรูปแบบเดิมๆ ร้องไห้โวยวาย โดยไม่มีสาเหตุ

ช่วงอายุ 18 เดือน – ไม่มีการใช้ภาษาพูดร่วมกับภาษากาย ไม่มีการเล่นบทบาทสมมติแบบเด็กทั่วไป

การป้องกันภาวะออทิสติกเทียม

1. ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอมากเกินไป

VirtualAutism_web_2

จากงานวิจัยพบว่าร้อยละ 70 ของการเกิดภาวะออทิสติกเทียม มีสาเหตุมาจาก พฤติกรรมการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ที่ปล่อยให้ลูกเล่นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์มากเกินไป

ซึ่งในการเลี้ยงลูกช่วงวัย 1 ขวบแรก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกอยู่กับสมาร์ตโฟนตามลำพัง และไม่ควรให้ลูกใช้งานหน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาในการพูดคุย รวมถึงเสริมสร้างทักษะต่างๆ ด้วยการเล่น เพื่อเสริมพัฒนาการทางสมองและร่างกาย เช่น การต่อบล็อก ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน แทนการปล่อยลูกไว้กับอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ

2. หาเวลาเล่นและมีปฏิสัมพันธ์กับลูก

VirtualAutism_web_3

คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากมักจะใช้เวลาไปกับการทำงาน จนบางครั้งก็อาจจะไม่มีเวลามากพอที่จะเล่นกับลูก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขาดการกระตุ้นทางพัฒนาการได้

จริงอยู่ว่าการปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียวสามารถช่วยส่งเสริมจินตนาการและทักษะการพึ่งพาตนเองได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แบ่งเวลามาพูดคุยหรือเล่นกับลูกเลย จะทำให้ลูกขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จนพัฒนาการทางสมองและร่างกายถดถอยและไม่เป็นไปตามวัยได้

คุณพ่อคุณแม่ที่มีเวลาน้อยอาจจะใช้ช่วงเวลาก่อนนอนประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับลูก เช่น เล่านิทาน เล่นเกมทายภาพ หรือใช้เวลาบนโต๊ะอาหาร ในการพูดคุยกับลูก แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็สามารถช่วยกระตุ้นทักษะของลูกได้เช่นกันค่ะ

3. สร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น

VirtualAutism_web_4

สภาพแวดล้อมในครอบครัวส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่มีปากเสียง หรือทะเลาะกันให้ลูกเห็นบ่อยๆ จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมจะเรียนรู้ ไม่ได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางสมองและร่างกาย และนำไปสู่การเกิดภาวะออทิสติกเทียมได้

 

อ่านบทความ: มาดูสัญญาณเตือนของ ‘โรคออทิสติก’ กัน อย่าปล่อยไว้ก่อนจะสายเกินไป
อ้างอิง
Prayatna
AutismParenting
GrowingSmart

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST