READING

มาดูสัญญาณเตือนของ ‘โรคออทิสติก’ กัน อย่าปล่อยไว้ก...

มาดูสัญญาณเตือนของ ‘โรคออทิสติก’ กัน อย่าปล่อยไว้ก่อนจะสายเกินไป

เราอาจเคยเห็นภาวะออทิสติก (Autism) จากตัวเอกในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือล่าสุดซีรีส์ พี่น้องลูกขนไก่ ของบ้านเราก็มีตัวละครพี่ยิม เป็นตัวแทนของเด็กที่มีภาวะออทิสติกได้อย่างน่าสนใจ และเมื่อไม่นานมานี้ แอนิเมชั่นชื่อดัง Sesame Street ก็มีคาแรกเตอร์ใหม่อย่าง จูเลีย—เด็กหญิงผู้มีภาวะออทิสติกปรากฏตัวในเนื้อเรื่องอีกด้วย

เด็กที่มีภาวะออทิสติกอาจมีอาการแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีลักษณะร่วมคล้ายกันหลายอย่าง เช่น อยู่ในโลกของตัวเองมาก สนใจสิ่งแวดล้อมน้อย เรียกไม่หัน ไม่สบตา ดูเหมือนไม่สนใจใคร มีปัญหาเรื่องการพูด ใช้ภาษาแปลกๆ ทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผนที่ไม่ยืดหยุ่น และบางคนอาจมีพฤติกรรมกระตุ้นตัวเองเป็นระยะ เช่น หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า สะบัดมือ

 

และถ้าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้จนรบกวนการใช้ชีวิต เช่น เข้ากับเพื่อนไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ห้ามวางใจเด็ดขาด รีบพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อที่คุณหมอจะได้ประเมินและวางแผนรักษาต่อไป

รู้จักโรคออทิสติก

 

โรคออทิสติก หรือ Autism Spectrum Disorder (ASD) เป็นโรคพัฒนาการบกพร่องที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทำให้พัฒนาการด้านสังคม การใช้ภาษา และลักษณะพฤติกรรมบางอย่างผิดปกติเป็นแบบแผนซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งลักษณะดังกล่าวมักแสดงอาการตั้งแต่ยังเล็ก

สังเกตสัญญาณเตือนโรคออทิสติก

1. ด้านพัฒนาการทางสังคม

Autism_1

• ในช่วงอายุ 12-18 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กทั่วไปจะสบตา ยิ้ม และส่งเสียงพูดคุย แต่เด็กที่เป็นออทิสติกมักไม่สบตาคนอุ้มหรือคนที่เล่นด้วย เรียกชื่อก็ไม่หันมอง หน้าตาเฉยเมย ไม่ยิ้มตอบ ไม่หัวเราะ และไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจใดๆ แต่ไม่มีความผิดปกติด้านอื่น

• ไม่กลัวคนแปลกหน้า และไม่กลัวการแยกจากพ่อแม่ ไม่แสดงออกถึงความผูกพันกับพ่อแม่เท่าที่ควร

• ในวัยที่เด็กทั่วไปเริ่มมีการเล่นเลียนแบบ เช่น ป้อนข้าวน้องตุ๊กตา เล่นเป็นคุณครู คุณหมอ แต่เด็กออทิสติกจะไม่เล่นแบบนั้น

ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมและตอบสนองต่อคนอื่น

2. ด้านพัฒนาการทางการสื่อสาร

Autism_2

• ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตว่าลูกพูดช้า พูดน้อยกว่าเด็กทั่วไป ในวัยสองขวบ เด็กยังไม่พูดเป็นคำหรือพูดเป็นภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย

• บางคนอาจเคยพูดได้เป็นคำๆ ในช่วงแรก แล้วต่อมาหยุดพูดหรือไม่พัฒนาต่อตามที่ควรก็มี

• ใช้คำพูดไม่สมวัย เช่น ผิดไวยากรณ์  เรียงลำดับคำพูดไม่ถูกต้อง หรืออาจใช้โทนเสียงผิดปกติ เช่น พูดเสียงสูงหรือเสียงแหลมผิดปกติ ในขณะที่บางคนอาจพูดเสียงทุ้มหรือยานคางผิดปกติเช่นกัน

• เด็กบางคนพูดภาษาตัวเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ บางคนชอบพูดตาม เช่น เมื่อถูกถามว่า “จะไปไหน” เด็กก็ตอบกลับมาว่า “จะไปไหน” หรือเด็กบางคนอาจพูดไม่เข้ากับสถานการณ์

• เด็กบางคนมีพัฒนาการทางการสื่อสารดี พูดได้เป็นประโยค เล่าเรื่องได้ แต่ต่อบทสนทนาให้ต่อเนื่องไม่ได้ เช่น พูดแต่เรื่องของตัวเองซ้ำๆ ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยไม่สนใจรับฟังเรื่องของคนอื่น ไม่สนใจคู่สนทนา

• ไม่เข้าใจคำพูดล้อเล่น หรือคำพูดเชิงเปรียบเทียบที่ไม่ได้พูดความหมายตรงๆ

• ใช้ภาษาท่าทางไม่ได้ รวมถึงอ่านสีหน้าอารมณ์ของคนอื่นไม่ออก เช่น ไม่แสดงออกทางสีหน้าท่าทาง ไม่รู้ว่าเพื่อนแสดงหน้าแบบนี้คือโกรธ

• ไม่มองตามเมื่อมีคนชี้นิ้ว และไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการของตัวเอง หากอยากได้อะไรมักจะทำเอง หรือจูงมือพ่อแม่ไปยังสิ่งที่ตัวเองต้องการ

3. ด้านพฤติกรรม

Autism_3

• เด็กบางคนกระตุ้นตัวเองด้วยการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่น เขย่งเท้า หมุนตัว สะบัดมือ อยู่ตลอดเวลา

• เด็กมีความสนใจจำกัด อาจหมกมุ่นกับบางอย่างมากเกินไป เช่น บางคนชอบมองพัดลม ชอบมองสิ่งของหมุนๆ สามารถมองพัดลมได้ทั้งวัน หรือบางคนชอบส่วนปลีกย่อยหรือผิวสัมผัสบางอย่าง เช่น ล้อรถยนต์ กระดุมเสื้อ

• มีพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงยาก มักชอบทำอะไรตามกิจวัตรเดิมโดยเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย หากเปลี่ยนแปลงเด็กอาจแสดงท่าทีหงุดหงิดหรือกรีดร้องอาละวาดได้ เช่น ต้องกินอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ต้องเดินทางด้วยเส้นทางเดิมทุกวัน ต้องทำกิจวัตรแบบเดิมเป็นลำดับขั้นตอนทุกวันและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมเหล่านั้นยาก

• เด็กบางคนอาจมีอาการที่เด่นชัดเพียงสนใจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ เช่น เรื่องดาราศาสตร์ ไดโนเสาร์ วัดวาอาราม เครื่องบิน หรือวรรณคดีบางเรื่อง

เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบหมอ

Autism_4

• อายุ 12 เดือน ลูกยังไม่ส่งเสียงชี้นิ้วหรือใช้ท่าทางในการสื่อสาร

• อายุ 16 เดือน ลูกยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย

• อายุ 24 เดือน ลูกยังไม่พูดเป็นวลี 2 พยางค์ที่มีความหมาย

• มีการถอยกลับของพัฒนาการด้านภาษาและด้านสังคมในทุกอายุ เช่น ลูกเริ่มพูดแล้วอยู่ๆ ก็กลับไปไม่พูด

พฤติกรรมของลูกด้านการสื่อสารหรือทางสังคม การเข้ากับคนอื่น เป็นไปได้ไม่ดีจนรบรบกวนการใช้ชีวิต หรือมีความยากลำบากในการเข้าร่วมสังคมและสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น

• มีพฤติกรรม ความสนใจที่แคบและจำกัด อย่างที่ยกตัวอย่างด้านบน เช่น เคลื่อนไหวในรูปแบบซ้ำๆ, ยึดติดกับกิจวัตรประจำวันหรือการพูดที่ไม่ยืดหยุ่น, หมกมุ่นกับสิ่งที่เขาสนใจมากเกินไป

• มีประสาทสัมผัสไวมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เช่น ชอบดมหรือสัมผัสวัตถุบางชนิดมากเกินไป ชอบมองแสงหรือวัตถุที่เคลื่อนไหวมากเกินไป

อาการข้างบนเหล่านี้ส่งผลกระทบให้การทำหน้าที่ การเรียน การเข้าสังคม หรือด้านอื่นๆ ในชีวิตเดือดร้อน

 

แม้ว่าเด็กๆ ที่อยู่ในภาวะออทิสติกจะดูเหมือนอยู่ในโลกของตนเองเป็นอย่างมาก แต่ก็มีคนจำนวนมากที่อยู่ในภาวะนี้ แต่มีความสามารถด้านอื่นๆ และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีลักษณะพฤติกรรมคล้ายกับที่เรากล่าวไป ยิ่งต้องรีบพาไปรักษา เพราะถ้ายิ่งฝึกพัฒนาการในส่วนที่เขาบกพร่องตั้งแต่เด็กเร็วเท่าไร ก็จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้เร็ว และใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้เร็วเท่านั้น

ที่มา:
หนังสือจิตเวชศิริราช DSM-5
กรมสุขภาพจิต
สถาบันราชานุกูล
Sesame Street Channel

Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST