เปิดตัวมาก็ค่อนเรื่องแล้วกับละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่จุดประกายให้ประเด็นมากมาย ตั้งแต่คราที่แม่การะเกดเปรี้ยวปากอยากกินกุ้งเผา จนเด็กๆ ในบ้านต้องช่วยกันมาตกกุ้ง และอีกเพลาก็ต้องวิ่งวุ่นช่วยแม่นายเตรียมของมาใส่เครื่องกรองน้ำ… ชวนให้เราสงสัยว่า เพราะอะไรเด็กบางคนจึงไม่ใส่เสื้อผ้า นุ่งแค่โจงกระเบน บางคนไว้ผมจุก ในขณะที่เด็กหญิงบางคนก็ไม่มีพวงมาลาประดับเหนือศีรษะ ทำไมกันนะ…
เราเลยมีเกร็ดสนุกๆ เรื่องเครื่องประดับแลทรงผมของเด็กน้อยแห่งกรุงศรีอยุธยามานำเสนอ เผื่อว่าหน้าร้อนนี้จะย้อนเวลาไปแต่งตัว และไว้ทรงผมให้อินเทรนด์บ้างจะเป็นกระไร
1. เครื่องประดับ

เครื่องประดับสำหรับเด็กในสมัยโบราณ จะมีลักษณะคล้ายกับของผู้ใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า และมักมีลูกกระพรวนหรือกระพรวนโลหะขนาดเล็กห้อยให้มีเสียงดัง จะได้รู้ว่าเด็กคลานหรือวิ่งเล่นอยู่ที่ใด ซึ่งบางชิ้น นอกจากสวมใส่เพื่อความงดงามแล้ว ยังแฝงด้วยความเชื่อในสิ่งลี้ลับ และการป้องกันภัยจากพลังเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็นด้วย เช่น จับปิ้งหรือตะปิ้ง ที่เชื่อกันว่าป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้
โดยชาวอยุธยานิยมผูกจับปิ้ง—เครื่องปิดของลับของเด็กหญิง ให้เด็กๆ ซึ่งทำจากหลากหลายวัสดุขึ้นอยู่กับฐานะ แต่มักทำด้วยโลหะที่ไม่ขึ้นสนิม นอกจากใช้ปกปิดร่างกายแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีต ที่ใช้เบี่ยงเบนความสนใจของผู้พบเห็น ไม่ให้ไปสนใจกับอวัยวะเพศมาก และเป็นการปลูกฝังว่าอวัยวะเพศเป็นของสงวน
โดยจับปิ้งสำหรับบุตรหลานเจ้านายขุนนางชั้นผู้ใหญ่มักทำด้วยทองคำ ส่วนของเด็กทั่วไปมักทำด้วยเงินและนาก ส่วนผู้ที่มีฐานะยากจนจะใช้จับปิ้งจากกะลามะพร้าว ญาติผู้ใหญ่จะผูกจับปิ้งให้ลูกหลานหลังโกนผมไฟ—การโกนผมให้เด็กอ่อน จนกระทั่งอายุประมาณ 10-12 ปี หรือกระทั่งโกนจุกจึงเลิกใช้จับปิ้ง และเปลี่ยนไปนุ่งห่มเสื้อผ้าตามฐานะ
นอกจากนี้ ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางหรือพ่อค้าทั่วไป เด็กๆ อาจมีเครื่องประดับอื่นๆ ตกแต่งร่างกาย อย่างธรรมดาที่สุดก็คือสร้อยข้อมือและกำไลมือทองคำ แต่หากเป็นชนชั้นเจ้านาย ก็จะมีเพชรพลอยและแหวนแพรวพราว ซึ่งจะใส่ถึงอายุ 6-7 ขวบเท่านั้น
และเครื่องประดับที่สะดุดตาอีกชิ้นก็คือ รัดเกล้าพวงมาลัยงดงาม หรือรัดเกล้าทองคำที่ใช้สวมครอบจุกตามแต่ฐานะของแต่ละคนนั่นเอง
2. ทรงผม

เหตุผลหนึ่งที่เด็กสมัยอยุธยาต้องไว้ผมทรงต่างๆ ที่แสนสั้นนั้น เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน หากให้เด็กซุกซนไว้ผมยาวก็คงไม่สะดวก ดูแลรักษาความสะอาดยาก
แต่กะโหลกศีรษะหรือกระหม่อมของเด็กๆ ที่ชาวไทยสมัยก่อนเรียกกันว่า ขวัญ ยังบอบบาง หากสังเกตจะเห็นว่าบริเวณขวัญของเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กๆ จะบางจนเห็นเส้นเลือดเต้นตุบๆ ซึ่งคนสมัยก่อนเชื่อกันว่าขวัญหรือชีวิตวิญญาณของคนเราอยู่ที่กระหม่อม ดังนั้น หากไปโกนผมตรงส่วนนั้นออกอาจเป็นอันตรายได้ จึงโกนเฉพาะส่วนอื่นและปล่อยตรงขวัญไว้ และเกล้ามัดขึ้นเป็นจุกเมื่อผมยาวขึ้น กลายเป็นทรงต่างๆ ที่ไว้ได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงนั่นเอง
วัยที่เหมาะกับการโกนผมของเด็ก คือช่วงอายุ 11-13 ปี เด็กชายจะโกนราวๆ อายุ 13 ปี เด็กหญิงจะโกนราวๆ อายุ 11 ปี ซึ่งไม่ได้จำกัดอายุตายตัวแต่อย่างใด
ทรงผมต่างๆ ของเด็กในสมัยอยุธยา
ผมจุก คือผมที่ขมวดเอาไว้ตรงกระหม่อม คำราชาศัพท์เรียกว่าพระเมาลีหรือพระโมลี เป็นทรงที่ลูกเจ้าขุนมูลนายหรือผู้มีฐานะดีชอบทำ เพราะทำแล้วดูสวยน่ารักดี มีมวยให้เสียบปิ่นทอง เงิน นาก หรือคล้องพวงมาลัยก็ได้
ซึ่งถ้าเป็นลูกชนชั้นแรงงานหรือทาสที่ไม่มีเครื่องประดับมีค่า พ่อแม่ก็จะใช้ผ้ามัดไว้ หรือบางบ้านอาจถักเป็นเปียก่อน แล้วค่อยยกขึ้นไปขมวดบนกระหม่อม ผมจุกจะได้อยู่นาน ไม่หล่นลงมารุงรัง
ผมแกละ คือผมที่เก็บไว้เป็นหย่อมหรือเป็นปอยข้างศรีษะ โดยพ่อแม่จะโกนผมลูกออกเหลือไว้เป็นกระจุกที่เรียกว่าแกละ ส่วนจะเหลือกี่แกละนั้นไม่มีใครห้าม แล้วแต่คนโกนว่าจะเมตตาให้น้องเหลือเส้นผมกี่ปอย เด็กบางคนอาจมีสองแกละ สามแกละ หรือสี่แกละด้วยซ้ำไป
ผมเปีย คือผมที่ปล่อยยาวให้ห้อยลงมา ผู้ใหญ่มักถักไขว้กันและผูกให้ดูเรียบร้อย ซึ่งผมเปียของเด็กจะต่างจากผมเปียที่สาวๆ ชอบไว้ เพราะเปียของเด็กๆ จะไว้ยาวเฉพาะผมส่วนที่ปล่อยไว้คลุมกระหม่อมเท่านั้น แต่ผมส่วนอื่นๆ บนศีรษะจะโกนจนเกลี้ยง
ผมโก๊ะ คือผมที่ไว้เป็นหย่อมหรือมีปอยคล้ายผมแกละ โดยจะโกนให้เหลือผมอยู่แค่กระจุกเดียวตรงขวัญ ส่วนบริเวณอื่นๆ ก็จับโกนจนล้านเลี่ยนโล่งหมด และผูกผมที่เหลือไว้ง่ายๆ ไม่ให้รุงรัง แต่ก็ไม่ได้ถักเป็นเปีย
3. ผมบ๊อบและรองทรงมาตอนไหน…

บทความว่าด้วยเรื่องกฎทรงผมของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีคำตอบสรุปความได้ว่า ประเทศไทยรับทรงผมทรงนักเรียนและเครื่องแบบต่างๆ มาจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งช่วงนั้นเหาระบาดมาก ประชาชนจึงนิยมตัดผมสั้น
ในปี พ.ศ. 2515 กระทรวงศึกษาธิการจึงออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับทรงผมที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน โดยระบุว่า
- นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดเครา
- นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้น ก็ให้รวบให้เรียบร้อย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2518 กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ก็แก้ไขเป็น
- นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาว จนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา
- นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้น ก็ให้รวบให้เรียบร้อย
นี่จึงเป็นที่มาของทรงนักเรียนในปัจจุบันนั่นเอง
NO COMMENT