READING

ความแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby blue)...

ความแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby blue) VS โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression)

หลังคลอดลูกควรเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่รอคอย แต่ในความเป็นจริงเรากลับพบว่า คุณแม่หลังคลอดมักมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวน และทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด แตกต่างกันตามระดับความรุนแรงและระยะเวลา

ดังนั้น M.O.M จะมาแยกความแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือภาวะ Baby blue และโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression) ให้คุณแม่ทราบความแตกต่างเพื่อหาวิธีป้องกันและรับมือต่อไป

1. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคุณแม่เป็นร้อยละ 50-70 : โรคซึมเศร้าหลังคลอดคุณแม่เป็นร้อยละ 10-15

BabybluePostnatal_web_1

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นอาการซึมเศร้าที่พบบ่อยที่สุดในคุณแม่หลังคลอด โดยจะมีอาการซึมเศร้าไม่รุนแรง เกิดจากฮอร์โมนที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วจนตรวจไม่พบในกระแสเลือด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด เป็นอาการสืบเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้า แต่เป็นในระดับที่รุนแรงและมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งโรคซึมเศร้าหลังคลอดสามารถเกิดขึ้นได้ แม้ลูกจะมีอายุหลายเดือนแล้วก็ตาม

2. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคุณแม่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เลี้ยงลูก : โรคซึมเศร้าหลังคลอดต้องมีคนเข้ามาช่วยเลี้ยงลูก

BabybluePostnatal_web_2

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่หลังคลอดจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อคุณแม่ได้ร้องเพลงกล่อมลูก ได้เห็นรอยยิ้มของลูก ได้เล่นกับลูก หรือกอดลูก

โรคซึมเศร้าหลังคลอด อาการของโรคจะรบกวนชีวิตประจำวันของคุณแม่ เช่น ไม่กิน ไม่ลุกออกจากเตียง หรือเอาแต่นอนร้องไห้ จนไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยตัวเองได้ ต้องมีคนเข้ามาช่วยดูแลลูก และจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อให้คุณแม่ได้รับการช่วยเหลือและรักษาที่ถูกต้อง ก่อนอาการจะรุนแรงจนกลายเป็นโรคจิตหลังคลอดได้

3. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาการจะหายไปในไม่กี่วัน : โรคซึมเศร้าหลังคลอดต้องได้รับการรักษา

BabybluePostnatal_web_3

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะมีอาการและระดับความรุนแรงต่างกันในแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการชัดเจนในช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด และเกิดขึ้นภายในสองสัปดาห์แรกหลังคลอด หลังจากนั้นอาจจะพบได้บ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม คนรอบข้าง และปัญหาต่างๆ

โรคซึมเศร้าหลังคลอด จะมีอาการเป็นระยะเวลานาน และจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาการจะซับซ้อนและต้องใช้เวลารักษาอาการนานขึ้น

วิธีป้องกันจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด

BabybluePostnatal_web_4

1. หาเวลาพักผ่อนเยอะๆ พยายามนอนพร้อมกับลูก คุณแม่จะได้ไม่เหนื่อยหรือหงุดหงิดง่าย

2. คุณแม่ควรพาลูกออกไปทำกิจกรรมร่วมกับคุณแม่มือใหม่ด้วยกัน

3. ลองหางานอดิเรกที่สนใจ สามารถลดอาการเบื่อหรือเครียดลงได้

4. ให้คุณพ่อช่วยเลี้ยงลูก และคุณแม่หาเวลาว่างเป็นของตัวเอง เช่น ออกไปพบเพื่อนๆ

5. กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว 10 นาที ช่วยให้คุณแม่รู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้น

6. หากคุณแม่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อติดตามอาการและสัญญาณของภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ หากพบความผิดปกติจะได้เริ่มรักษาทันที เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น

7. เรียนรู้สาเหตุของอาการซึมเศร้าหลังคลอด ทำความเข้าใจ และหาวิธีแก้ปัญหาหรือเตรียมการไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อเอาชนะความเศร้าที่เกิดขึ้น

 

 

 

อ้างอิง
Th.theasianparent
Maerakluke
Pobpad
medthai

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST