READING

6 วิธีรับมือเบบี๋ร้องไห้งอแง ให้สงบลง...

6 วิธีรับมือเบบี๋ร้องไห้งอแง ให้สงบลง

ร้องไห้งอแง

วัยทารกคือช่วงอายุที่คุณพ่อคุณแม่กำลังเริ่มทำความรู้จักกับลูกน้อยแรกเกิด หนึ่งในปัญหาที่ยากที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็คืออาการ ร้องไห้งอแง ของลูกที่ไม่รู้สาเหตุ ไม่รู้ว่าจะแก้ไข หรือทำยังไงให้ลูกหยุดร้องไห้ได้แต่โดยดี

การร้องไห้งอแง ของเบบี๋หรือทารกมีสาเหตุได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลูกรู้สึกไม่สบายตัว ร้อนเกินไป หนาวเกินไป ความไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หิว ง่วง และอาจเจ็บป่วยไม่สบาย แต่ไม่สามารถสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้

แต่บางครั้ง ไม่ว่าจะพยายามหาสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้งอแงแค่ไหนก็ตาม ให้กินนมก็แล้ว ให้นอนก็แล้ว จะว่าป่วยไข้ก็ไม่ใช่ ทำยังไงลูกก็ร้องไห้งอแงไม่หยุด ลองรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนั้น ด้วยวิธีเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้กันดูนะคะ

1. ใช้ผ้านุ่มๆ ห่อตัวลูก

ผ้าห่อตัว

การใช้ผ้าขนหนูหรือผ้านุ่มๆ ห่อตัวทารก จะช่วยให้ทารกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย นอนหลับได้ดีและนานขึ้น

ดังนั้น ถ้าทารกร้องไห้งอแงและไม่ยอมนอนหลับง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่ลองใช้วิธีหาผ้ามาห่อตัวลูกหลวมๆ ให้พอรู้สึกสบายและขยับแขนขาได้ แล้วค่อยพาเข้านอนหรือปลอบเพื่อให้ลูกหยุดร้องดูนะคะ

2. ใช้จุกนมหลอก

จุกนมหลอก

เวลาทารกร้องไห้งอแง บ่อยครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เข้าใจไปเองว่าลูกหิว และพยายามอุ้มลูกมาเข้าเต้าดูดนมบ้าง ให้ดูดนมจากขวดบ้าง และก็มักจะได้ผลคือลูกน้อยเริ่มสงบลง นั่นเป็นเพราะทารกจะใช้การดูดนมเพื่อกล่อมตัวเอง แต่ถ้าลูกจะต้องกินนมทุกครั้งที่งอแงละก็ คุณแม่ก็อาจจะไม่ไหวและลูกก็จะกลายเป็นได้รับน้ำนมมากเกินไป ดังนั้นคุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินนมทุกครั้งที่ลูกร้องไห้งอแง แต่สามารถให้ลูกดูดจุกนมหลอกเพื่อให้เบบี๋สงบลงแทนก็ได้นะคะ

3. อุ้มลูกแล้วโยกตัวขึ้นลงเบาๆ

อุ้มโยกเบาๆ

ในขณะที่ลูกกำลังร้องไห้อยู่ คุณพ่อคุณแม่สามารถอุ้มลูกแล้วโยกตัวเองไปมาเบาๆ หรือวางลูกลงบนเปลหรือที่นอนที่สามารถโยกได้เล็กน้อย สักพักลูกจะค่อยๆ สงบและหยุดร้องได้

แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีนี้ทุกครั้งหรือปล่อยให้ลูกหลับไปพร้อมกับการโยกตัว เพราะจะทำให้ลูกเคยชินและไม่สามารถหลับได้หากไม่มีการเคลื่อนไหว ดังนั้นเมื่อลูกหยุดร้องและดูเหมือนว่าจะหลับไป ก็ควรให้ลูกนอนบนที่นอนตามปกติของเขาค่ะ

4. นวดผ่อนคลายให้ลูก

นวดผ่อนคลาย

การนวดผ่อนคลายก็ใช้คลายความเครียด วิตกกังวล และไม่สบายตัวของเบบี๋ได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่อาจใช้โลชั่น หรือน้ำมันสำหรับทาผิวเด็กชะโลมลงบนตัวลูกและค่อยๆ นวดเบาๆ ให้ลูก

เริ่มจากคลายกำปั้นของเขานวดฝ่ามือ ฝ่าเท้า และนิ้วมือเบาๆ รวมถึงอาจค่อยๆ ลากมือจากบริเวณหน้าอกไปที่ท้องก่อนหมุนเป็นวงกลมเบาๆ

รับรองเลยค่ะว่าเจ้าเบบี๋จะสบายตัว สบายใจ และผ่อนคลายไม่ร้องไห้บ่อยแน่ๆ

พาลูกออกข้างนอก

นอกจากการเคลื่อนไหวที่ช่วยให้ทารกสงบลงได้แล้ว การพาลูกออกไปเจออากาศที่สดชื่นและสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ ก็สามารถช่วยให้ลูกผ่อนคลายและสงบสติอารมณ์ลงได้ หรือถ้าไม่รู้จะพาไปที่ไหน ลองให้นั่งคาร์ซีตและขับรถช้าๆ วนแถวบ้านสักพักก็ได้เช่นกันค่ะ

6. ปรับไฟให้สลัว

ไฟสลัว

แสงไฟที่เจิดจ้าย่อมเป็นอุปสรรคต่อการนอน ดังนั้นถ้าลูกร้องไห้งอแง คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองปรับแสงไฟในห้องให้มืดหรือพอสลัว แต่อย่าให้มีแสงไฟแยงตา ลูกก็จะผ่อนคลายและใจเย็นลง เพราะทารกจะคุ้นเคยกับความมืดที่เหมือนกับตอนอยู่ในท้องของคุณแม่มากกว่า เมื่ออยู่ในความมืดก็จะช่วยให้ทารกรู้สึกสงบและปลอดภัยมากกว่า

ที่มา
whattoexpect
helpguide
parents

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST