คุณพ่อคุณแม่หลายคนคาดหวังให้โรงเรียนเป็นสถานที่คัดกรองและขัดเกลาพฤติกรรมไม่ดีของลูก แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะนอกจากพฤติกรรมบางอย่างจะไม่หายไปแล้ว ยังมีพฤติกรรมไม่ดีอีกหลายอย่างที่ลูกเอาติดตัวกลับมาจากที่โรงเรียนอีกด้วย
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ลูกจะถึงวัยเข้าโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสังเกตพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อธิบาย และสอนให้ลูกเข้าใจสิ่งที่ถูกต้องด้วยตัวเองเสมอ
1. โกหกพ่อแม่

ลูกอาจจะเคยเห็นเพื่อนพูดโกหกที่โรงเรียน แล้วไม่โดนตำหนิจึงเลียนแบบพฤติกรรมนั้นกลับมา เช่น โกหกหรือไม่ยอมรับความผิดเพื่อไม่ให้โดนลงโทษ หรืออาจเป็นเพราะลูกมีประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ว่าการพูดความจริงแล้วถูกลงโทษ จึงเลือกที่จะไม่พูดความจริงมากกว่า
วิธีแก้ไขพฤติกรรม: เมื่อรู้ว่าลูกโกหก ต้องไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขพฤติกรรมโกหกของลูก ยิ่งใช้ความรุนแรง ยิ่งทำให้เด็กเกิดความกลัวและโกหกมากขึ้น
ท่าทีของพ่อแม่เมื่อรู้ว่าลูกโกหกนั้นสำคัญมาก หากพ่อแม่นิ่ง สงบ พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ปัญหาจะแก้ไขได้อย่างราบรื่น
จากกรณีที่ยกตัวอย่างด้านบน อาจจะเป็นเพราะกลัวการลงโทษหรือมีการลงโทษที่รุนแรง เลยทำให้เด็กโกหก พ่อแม่และคุณครูจะต้องร่วมมือกันทำให้เด็กรู้สึกว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ทำผิดแล้วก็แก้ไขซะ
2. ไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง

เพราะเหนื่อยล้าจากการเรียนในห้องเรียน ทำให้ลูกกลับบ้านมาแล้วไม่อยากทำอะไรอีก หน้าที่ในบ้านที่เคยรับปากกับพ่อแม่ว่าจะทำ ก็ไม่ทำ การบ้านที่ครูสั่งก็กองทิ้งไว้ในกระเป๋าอย่างนั้น
วิธีแก้ไขพฤติกรรม: หลังจากที่เด็กๆ กลับมาบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรมีข้อตกลงปล่อยให้เขามีเวลาได้เล่น ได้ผ่อนคลายและหายจากความเหนื่อยล้าสัก 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยให้ลูกทำการบ้านและภารกิจในบ้านต่อไป
เวลาลูกทำการบ้าน ทำงานบ้าน พ่อแม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของเขา เปลี่ยนจากกิจกรรมแสนน่าเบื่อให้เป็นกิจกรรมน่าสนุก น่าทำ เมื่อเขาทำการบ้านได้ ทำงานบ้านเสร็จ อาจจะชื่นชมหรือให้รางวัลเขาได้ดูการ์ตูนเรื่องโปรด ได้เล่นเกมที่เขาชอบ เป็นต้น
3. ย่องเบาขโมยของ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กตัดสินใจหยิบของของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาอยากให้ตัวเองมีข้าวของเท่าเทียมกับเพื่อน ได้รับการยอมรับจากเพื่อนที่โรงเรียน และบางครั้งเด็กเข้าใจผิดไปว่าการลักขโมยเป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญ
วิธีแก้ไขพฤติกรรม: เมื่อรู้ว่าลูกเริ่มมีนิสัยลักขโมย อย่างแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกด้วยท่าทีอ่อนโยนเพื่อหาสาเหตุของการขโมยและพ่อแม่ต้องพยายามกำจัดความเข้าใจผิดๆ ที่คิดว่าการลักขโมยเป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญ ควรบอกให้ลูกรู้ว่าการลักขโมยเป็นความผิดและทำให้คนอื่นเดือดร้อน
เมื่อลูกยอมรับแล้วทำการลักขโมยของของคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเอาของไปคืนที่เดิม แลให้บทเรียนด้วยการลงโทษ เช่น หักค่าขนมเพื่อให้เรียนรู้ว่าการขโมยเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
4. เผลอพูดคำหยาบ

เด็กอาจจะได้ยินเพื่อนๆ ในโรงเรียนพูดคำหยาบใส่กัน ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ แล้วรู้สึกว่าการพูดคำหยาบทำให้ดูเท่ หรือจำติดใจจนเผลอเอากลับมาพูดที่บ้าน
วิธีแก้ไขพฤติกรรม: คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายความหมายของคำหยาบแต่ละคำหมายถึงอะไร และทำไมถึงไม่ควรพูด หรือเมื่อคนอื่นฟังคำหยาบนั้นๆ แล้วจะรู้สึกอย่างไร
หากลูกยังพูดคำหยาบต่อไป คุณควรเพิกเฉย หรือไม่ให้ความสนใจต่อคำพูดนั้น ลูกจะรับรู้ได้ว่าคุณไม่พอใจที่ได้ยินคำพูดเหล่านั้น แต่ถ้าหากลูกเลือกใช้คำพูดที่สุภาพมากขึ้น ก็ควรชื่นชมเพื่อให้เขารู้ว่าการพูดจาไพเราะเป็นพฤติกรรมที่น่ารักกว่า
5. ขาดความมั่นใจ ซึม และไม่พูดไม่จา

โรงเรียนสอนให้เด็กรู้ว่า โลกนี้ยังมีเด็กที่มีความสามารถหรือเป็นที่รักของคนอื่นกว่าตัวเอง และเมื่อเด็กเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่น ก็มักจะเกิดความรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ ส่งผลให้กลายเป็นเด็กเศร้าซึม นิ่งเงียบ ไม่พูดไม่จา
วิธีแก้ไขพฤติกรรม: คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูก ถึงเวลาที่คุณควรจะเปิดโลกทัศน์ของลูกให้กว้างขึ้น อธิบายลูกว่าคนเรามีความสามารถที่แตกต่างกัน การที่มีใครเก่งกว่า หรือเป็นที่ชื่นชมของคนอื่นมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะไม่มีคุณค่าในตัวเอง และคุณควรช่วยลูกมองหาสิ่งที่เขาถนัดและสนับสนุนเพื่อให้ลูกค้นพบความสามารถด้านอื่นของตัวเองมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST