การกำหนดทิศทางการเติบโตของเด็กในปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยังมีความผูกพันใกล้ชิดระหว่างเครือญาติ
การ เลี้ยงลูกในครอบครัวใหญ่ ที่มีสมาชิกหลายรุ่นอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายายหรือลุงป้าน้าอา อาจสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและได้รับการสนับสนุนที่หลากหลาย แต่ในขณะเดียวกัน การอยู่ในครอบครัวใหญ่ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่และลูกต้องปรับตัวมากกว่าที่คิด
ดังนั้น นอกจากการได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัวแล้ว อะไรคือความท้าทายที่คุณพ่อคุณแม่จะได้รับจากการ เลี้ยงลูกในครอบครัวใหญ่ และมีแนวทางการรับมืออย่างไร ลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะคะ
1. แนวทางการเลี้ยงดูและค่านิยมที่แตกต่าง

เป็นธรรมดาที่การมีสมาชิกในครอบครัวมีความแตกต่างกันทางอายุ ความคิด และค่านิยม ย่อมทำให้พฤติกรรม การแสดงออก และการเลี้ยงลูกหลานแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจขัดแย้งกับแนวทางการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ลูกเกิดความสับสนและพัฒนาการเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่
คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดใจคุยกับทุกคนอย่างตรงไปตรงมา หาจุดร่วมและสร้างข้อตกลงร่วมกันในเรื่องที่สำคัญ โดยไม่ลืมให้ความเคารพในประสบการณ์ของผู้ใหญ่ แต่ก็มั่นคงในหลักการที่คุณพ่อคุณแม่เชื่อถือและสื่อสารกฎเกณฑ์ให้ลูกและทุกคนเข้าใจอย่างชัดเจน
2. การแทรกแซงและให้ท้ายลูกหลานมากเกินไป

ด้วยความรักและความห่วงใยจากสมาชิกในครอบครัว อาจมีมากจนเข้ามาแทรกแซงการเลี้ยงดูและการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ เช่น ปู่ย่าตายายอาจตามใจและปกป้องหลานมากเกินไป ทำให้หลานกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจได้
สิ่งสำคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดขอบเขตการเข้ามามีส่วนร่วมและขอความร่วมมือจากทุกคนไม่ให้มีการแทรกแซงหรือให้ท้ายลูกหลาน โดยให้การตัดสินใจหลักเป็นของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น
3. ขาดความเป็นส่วนตัวและการมีเวลาคุณภาพภายในครอบครัว

ครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนอาจทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกขาดพื้นที่ส่วนตัวหรือเวลาที่เป็นของครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ และการมีเวลาคุณภาพในครอบครัวของตัวเอง
คุณพ่อคุณแม่จึงควรพยายามจัดสรรเวลาและพื้นที่สำหรับครอบครัวเล็กได้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และสื่อสารกับสมาชิกในบ้านถึงความสำคัญของความเป็นส่วนตัว หากเป็นไปได้ อาจปรับปรุงพื้นที่ในบ้านเพื่อให้สมาชิกทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น
4. ความคาดหวังและความกดดันจากครอบครัวใหญ่

การเป็นลูกหลานของครอบครัวใหญ่ ย่อมถูกคาดหวังจากญาติผู้ใหญ่มากขึ้น อาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดและกดดัน จากการแบกความหวังและถูกเปรียบเทียบได้
คุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นกระบอกเสียงให้ลูก สนับสนุนให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร และสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวใหญ่ถึงความสำคัญของการยอมรับความแตกต่างและความสามารถเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคนด้วย
5. ความขัดแย้งของผู้ใหญ่สู่เด็ก

‘มากคนก็มากความ’ ประโยคนี้ใช้อธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเลี้ยงดูลูกท่ามกลางญาติพี่น้องในครอบครัวใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกโดยตรง เพราะเด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่คนในครอบครัวมีความขัดแย้งเป็นประจำ อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น หงุดหงิดง่ายหรือซึมเศร้าต่อไปได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST