READING

‘ภาษากายของลูก: ชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจ’ ลูกท่าทางแบ...

‘ภาษากายของลูก: ชวนพ่อแม่ทำความเข้าใจ’ ลูกท่าทางแบบนี้หมายความว่ายังไงนะ?!

ภาษากายของลูก

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่มีลูกอยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ด้วยคำพูดมักจะเกิดความสับสนและไม่เข้าใจใน ภาษากายของลูก หรือท่าทางต่างๆ ที่ลูกแสดงออกเพื่อสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ เช่น การอมกำปั้น การแอ่นตัว การขยิบตา ทำให้บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองความต้องการของเจ้าตัวเล็กได้ไม่ตรงจุด จนเป็นเหตุให้ลูกน้อยอารมณ์ไม่ดี และร้องไห้งอแงนั่นเอง

ภาษากายของลูก คือ การแสดงท่าทางต่างๆ ของทารก เพื่อสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถตีความหมายจากท่าทางของลูกได้ตรงหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกต้องการ และตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม จะช่วยให้การเลี้ยงลูกเป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น

M.O.M จึงชวนคุณพ่อคุณแม่มาไขรหัสลับจากภาษากายของทารก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่กับลูกเข้าใจกันมากขึ้น

1. จับหูหรือดึงหูตัวเอง

bodylanguage_web_1

พอเห็นว่าลูกชอบจับหรือดึงหูตัวเอง คุณพ่อคุณแม่อาจนึกสงสัยว่าลูกมีแผลหรือเจ็บหูหรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้วการที่ทารกชอบจับหรือดึงหูตัวเอง หากไม่ได้มีอาการผิดปกติ ก็เป็นเพราะลูกต้องการสำรวจอวัยวะใหม่ๆ ในร่างกายที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

นอกจากนี้ ทารกมักจะชอบจับหรือดึงหูตัวเองเพื่อผ่อนคลายตัวเองจากอารมณ์หงุดหงิด เช่น ง่วงนอน หิว หรืออยากเล่นของเล่นได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกจับหูตัวเองบ่อยๆ และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คัดจมูก หรือร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจเป็นอาการแรกเริ่มของภาวะหูติดเขื้อในทารกได้เช่นกัน

2. นอนแอ่นตัว

bodylanguage_web_2

ผู้เชี่ยวชาญ เผยว่า การนอนแอ่นหลังหรือแอ่นตัวของทารกในช่วง 2 เดือนแรก เป็นการแสดงออกถึงความไม่สบายตัว ซึ่งเกิดจากการนอนท่าเดิมนานๆ จึงพยายามหาท่าทางหรือตำแหน่งการนอนที่ทำให้รู้สึกสบายตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่ ทารกจึงมักจะแอ่นตัวและร้องไห้งอแงร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยลูกพลิกตัว หรือเปลี่ยนท่าทางการนอนให้ลูก นอกจากนั้น หากลูกแอ่นตัวขณะกินนม อาจเป็นการแสดงออกว่าลูกอิ่มแล้วนั่นเองค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงอายุ 4-5 เดือน การที่ลูกแสดงท่าทางแอ่นตัวหรือแอ่นหลัง โดยไม่มีการร้องไห้ร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังจะพลิกตัวเองครั้งแรก

3. หันหน้าหนีไม่ยอมสบตา

bodylanguage_web_3

ถึงแม้จะเป็นทารก แต่การหันหน้าหนีและไม่ยอมสบตาเป็นการแสดงออกที่ต้องการสื่อให้รู้ว่า ‘คุณพ่อคุณแม่ยังเอาใจใส่ลูกไม่เพียงพอ’

โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กเล็ก กล่าวไว้ว่า พฤติกรรมการหันหน้าหนีและไม่ยอมสบตาของทารก เกิดจากการไม่ได้รับการกระตุ้นที่มากพอ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามสื่อสารกับลูกมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุย การเล่น หรือการสัมผัส เช่น การกอด การอุ้ม จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจ และรู้สึกสนิทสนมกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

4. นอนเตะขาไปมา

bodylanguage_web_4

เมื่อลูกนอนเตะขาไปมา คุณพ่อคุณแม่ต้องดูอารมณ์ควบคู่ไปด้วย หากลูกเตะขาแล้วยิ้มแย้ม ตาเป็นประกาย แสดงว่าลูกกำลังอารมณ์ดีมากๆ และอยากเล่นสนุกอย่างเต็มที่ แต่เมื่อไหร่ที่ลูกน้อยเตะขา พร้อมกับการร้องไห้งอแง แสดงว่าลูกกำลังรู้สึกไม่สบายตัว เนื่องจากผ้าอ้อมเปียกแฉะ คัน หรือมีอาการปวดท้อง ท้องอืดได้

5. ขยี้ตาหรือใช้มือถูหน้า

bodylanguage_web_5

การขยี้ตาหรือใช้มือถูหน้า เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกรู้สึกง่วงนอน โดยส่วนมากทารกจะแสดงท่าทางแบบนี้ ไปพร้อมๆ การแสดงออกอื่นๆ เช่น ร้องไห้ ดึงผมตัวเอง บิดตัวไปมา เพื่อแสดงให้คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าพวกเขากำลังรู้สึกหงุดหงิด เหนื่อยล้า และต้องการพักผ่อน

อ้างอิง
Parents
Mom Junction

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST