คุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไร เมื่อจู่ๆ ลูกวัยอนุบาลก็เริ่มทำตัวเจ้ากี้เจ้าการ ชอบออกคำสั่ง เพื่อให้คนอื่นตอบสนองและทำความความต้องการของตัวเองให้มากที่สุด
สร้างความหนักใจให้คุณพ่อคุณแม่ เพราะเมื่อ ลูกกลายเป็นเด็กชอบบังคับ ควบคุม และออกคำสั่งกับคนอื่น โดยเฉพาะเวลาเล่นกับเพื่อน การที่ ลูกชอบบังคับ ให้เพื่อนเล่นตามแบบที่ตัวเองต้องการ ก็จะทำให้เพื่อนๆ รู้สึกอึดอัดและไม่อยากเล่นกับลูกได้
Melinda Wenner Moyer ผู้เขียนหนังสือ HOW TO RAISE KIDS WHO AREN’T ASSHOLES อธิบายว่า เด็กๆ จะเริ่มใช้วิธีออกคำสั่ง แกมบังคับ เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมรอบตัว เพราะลึกๆ แล้วเด็กๆ อาจจะกำลังรู้สึกประหม่าและกังวลกลัวว่าเพื่อนจะไม่เล่นด้วย กลัวว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่สนใจ จึงต้องใช้วิธีการบังคับ หรือแค่เพียงอยากเอาชนะก็เท่านั้นเอง
แล้วคุณพ่อคุณแม่ล่ะคะ คิดว่าการที่ ลูกชอบบังคับ มีเหตุผลหรือสาเหตุมาจากอะไร และจะทำอย่างไร ไม่ให้ลูกใช้วิธีบังคับเพื่อนและคนอื่นๆ เพื่อให้ลูกกลับมาเป็นเด็กน้อยน่ารักในสายตาคนอื่นต่อไ
1. ทำความเข้าใจลูก ผ่านบทสนทนาประจำวัน
การชวนคุย ยังคงเป็นวิธีที่ดีและใช้ได้ผลกับลูกทุกช่วงวัย การคุยกับลูก ไม่ได้หมายความว่า การตั้งคำถามเพื่อคาดคั้นให้ได้คำตอบ แต่คุยเพื่อให้เข้าใจมุมมองและความคิดของลูกอย่างแท้จริง
คุณพ่อคุณแม่อาจจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า ลูกชอบบังคับคนอื่นเพราะต้องการเอาชนะ อยากให้เป็นที่ยอมรับ และอยากเป็นผู้นำ
แต่แม้ลูกจะมีเหตุผลของการเป็นเจ้าหนูจอมบังคับ คุณพ่อคุณแม่ควรปรับความเข้าใจผิดของลูก เพื่อให้ลูกสามารถใช้วิธีที่เหมาะสมมากขึ้น
2. ลองให้ลูกได้เรียนรู้ และแก้ไข เพื่อเติบโต
เมื่อลูกได้ลองใช้วิธีของตัวเอง เช่น บังคับคนอื่นเพื่อควบคุมการเล่น หรือเจ้ากี้เจ้าการให้คนอื่นเล่นตามวิธีของตัวเองเท่านั้น หากลูกได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมของตัวเองกำลังสร้างความอึดอัดใจให้คนอื่น ลูกก็จะค่อยๆ หาวิธีแก้ปัญหาเช่น เปลี่ยนวิธีเข้าหาเพื่อนคนเดิม หรือทดลองเปลี่ยนกลุ่มเพื่อน และอาจเปลี่ยนวิธีการเล่นของตัวเองได้
Maria Gartstein นักจิตวิทยาเด็กจาก Washington State University ระบุว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปห้ามลูกในทันที เมื่อเห็นว่าลูกเริ่มบังคับให้เพื่อนเล่นตามใจตัวเอง สังเกตดูว่า การบังคับในครั้งนั้น อาจเป็นเพียงการบอกเพื่อนๆ ให้รู้ว่าต้องทำอะไร และเพื่อนๆ ของลูกก็ยอมรับได้ อาจเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำ (การเล่น) ของเพื่อนๆ ในขณะที่มิตรภาพก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างก็โอเค
ตรงกันข้าม คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกขบคิดว่า ทำไมการใช้วิธีบังคับเพื่อนถึงไม่ได้ผล ทำอย่างไรเพื่อนถึงอยากเล่นกับลูกด้วยความเต็มใจ และ หากลูกเป็นเพื่อนที่โดนบังคับ ลูกจะรู้สึกอย่างไร และอยากให้เพื่อนใช้วิธีไหนในการชวนเล่นกันแน่
3. ปลูกฝังการเป็นเพื่อนที่ดีให้กับลูก
สำหรับเด็กอนุบาล การจะบอกเพื่อนว่า ไม่ชอบเล่นแบบที่เพื่อนๆ เล่นอยู่ โดยไม่ทำร้ายความรู้สึกของเพื่อน หรือทำให้ตัวเองยอมรับได้นั้น เป็นเรื่องยาก แต่ลูกก็จำเป็นต้องเรียนรู้และต้องฝึกฝน
Paula Yust, Ph.D. นักศึกษาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Duke แนะนำว่า ก่อนอื่นให้ลูกยอมรับและรับรู้อารมณ์เชิงลบของตัวเอง รู้ว่าตัวเองกำลังไม่พอใจ กำลังถูกขัดใจ โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนอยากเล่นอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่ลูกต้องการ ลูกอาจจะเสียใจที่เพื่อนไม่เล่นแบบที่ตัวเองอยากเล่น เพื่อนก็เช่นกัน
อธิบายให้ลูกฟังว่า การเป็นเพื่อนที่ดีหรือเป็นสมาชิกที่ดีในครอบครัว ย่อมมีการแบ่งปัน เล่นแบบเพื่อนบ้าง เล่นแบบเราบ้าง และบางครั้งลูกอาจจะต้องยอมเสียสละความต้องการของตัวเอง เพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่นด้วย
4. ลองเป็นฝ่ายชวนลูกเล่นก่อน
นอกจากเพื่อนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็คือคนที่ลูกชอบบังคับให้เล่นแบบที่ลูกต้องการ แต่พ่อแม่จะเล่นกับลูกตลอดเวลา ก็คงไม่ได้ เพราะยังมีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบอีกมาก
แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นฝ่ายชวนลูกเล่นก่อน ด้วยการมีกำหนดเวลาชั่วโมงทองคำ ช่วงเวลานี้จะได้เล่นแบบไม่มีการบังคับกัน เล่นอย่างเต็มที่ มีส่วนร่วมอย่างสนุกสนาน
ไม่ว่าจะเป็นการชวนทำงานบ้าน เพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ เช่น เข้าครัวทำไข่เจียว ซาวน้ำหุงข้าว กดปุ่มเครื่องซักผ้า ให้ลูกได้มีส่วนร่วมและคุณแม่ก็ได้งานไปในตัว หรือลองชวนลูกเล่น ด้วยวิธีการเล่นแบบที่คุณพ่อคุณแม่เคยเล่นสมัยเด็กๆ อย่าง เป่าหนังยาง พับเครื่องบินกระดาษ ปาดินน้ำมัน โยนลูกแก้ว มาเปิดโลกของการเล่นให้กับลูก
นอกจากจะสร้างความบันเทิงให้กับคุณพ่อคุณแม่และลูกแล้ว ยังช่วยให้สร้างสายสัมพันธ์ที่ดี ช่วยลดการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เปิดรับมุมมองของคุณพ่อคุณแม่ และค่อยๆ เรียนรู้เรื่องการแบ่งปันความสุข (ที่ไม่ใช่สิ่งของ) ไปในตัว
COMMENTS ARE OFF THIS POST