READING

4 วิธีรับมือลูกนักออกคำสั่ง เจ้ากี้เจ้าการ...

4 วิธีรับมือลูกนักออกคำสั่ง เจ้ากี้เจ้าการ

ออกคำสั่ง

ช่วงวัยก่อนเข้าโรงเรียนของลูก คือช่วงเวลาที่โลกแห่งการเรียนรู้ของลูกเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพราะลูกเริ่มโตพอที่จะมี เพื่อนที่เจอกันในเพลย์กรุ๊ป เพื่อนในหมู่บ้านเดียวกัน ญาติพี่น้องที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และเมื่อลูกพบว่าโลกนี้มีเด็กอื่นๆ อีกมากมาย สังคมเล็กๆ ของลูกที่ไม่ได้มีตัวเองเป็นเด็กเล็กอยู่คนเดียวก็เกิดขึ้น

แต่ถึงแม้จะมีเด็กคนอื่นเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อม แต่เด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน ก็ยังคงคุ้นเคยกับการเป็นศูนย์กลางของครอบครัว มีแต่คนทุ่มเทความรัก มีคนคอยเอาใจ ทำให้เด็กวัยนี้มักจะมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ยอมคน หวงของ และชอบ ออกคำสั่ง หรือเจ้ากี้เจ้าการให้คนอื่นทำนั่นทำนี่ให้เสมอ

นิสัยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของช่วงวัยจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรงสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่ถ้านิสัยเหล่านั้นไม่ได้รับการขัดเกลาหรือแนะนำอย่างถูกต้อง ก็จะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวไปจนโต

เรามาลองนึกภาพเด็กที่มีนิสัยชอบออกคำสั่งใส่ทุกคนในบ้านหรือเจ้ากี้เจ้าการกับคนอื่นมากเกินไป ก็คงไม่ดีแน่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมวิธีรับมือไม่ให้นิสัยและพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเหล่านี้ติดตัวลูกไปจนโต ด้วย 4 วิธีรับมือลูกนัก ออกคำสั่ง ดังนี้

1. สังเกตตัวเองและปรับปรุงตัว

สังเกตตัวเอง

ก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ลองย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่า พฤติกรรมชอบออกคำสั่งให้คนอื่นทำตาม เจ้ากี้เจ้าการ และเอาแต่ใจนั้น ลูกไปเรียนรู้มาจากที่ไหน ใช้พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่หรือเปล่า ถ้าใช่แล้วละก็ คุณพ่อคุณแม่ต้องลดพฤติกรรมเหล่านี้ต่อหน้าลูก เช่น ไม่ใช่ประโยคคำสั่งเมื่อต้องการบอกให้ลูกทำสั่งนั้นสิ่งนี้ แต่เปลี่ยนเป็นการชวน หรือให้ทางเลือกให้ลูกไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสั่งให้ทำตามใจคุณพ่อคุณแม่ทุกอย่าง

2. บอกให้ลูกรู้วิธีพูดกับผู้อื่น

BossyBehaviour_web_2

บางครั้งการออกคำสั่งของลูก มาจากการที่ลูกไม่รู้ว่าจะบอกความต้องการของตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้อย่างไร เช่น ลูกรู้สึกหิวและต้องการกินข้าวให้เร็วที่สุด ความต้องการนี้อาจถูกสื่อสารออกมาในรูปประโยค “แม่ไปเอาข้าวมาให้เดี๋ยวนี้” ซึ่งอาจจะนำความขัดใจมาให้คุณพ่อคุณแม่ยิ่งนัก

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนวิธีการพูดเมื่อลูกต้องการบอกให้คนอื่นทำอะไรให้ พูดอย่างไรให้คนฟังไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ และพูดอย่างไรให้สุภาพและอ่อนโยน เพราะจะทำให้คนฟังรู้สึกดี และเต็มใจทำตามสิ่งที่ลูกต้องการมากขึ้นอีกด้วย

3. มอบความรับผิดชอบให้แก่ลูก

รับผิดชอบ

ความเจ้ากี้เจ้าการของเด็กมักเกิดจากการอยากเป็นผู้ควบคุมบางอย่าง อยากจะเป็นคนเลือก และอยากเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเองบ้าง

การมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูก เช่น รับหน้าที่ช่วยน้องแต่งตัว จะช่วยให้ลูกโฟกัสกับหน้าที่ของตัวเอง เรียนรู้ที่จะจัดการ และแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนจะเรียกหรือบอกให้ใครมาช่วย แต่ที่สำคัญ หน้าที่นั้นๆ ต้องมาจากการถามความเต็มใจของลูกด้วยนะคะ

4. บอกถึงผลลัพธ์ของการเป็นเด็กชอบออกคำสั่ง

BossyBehaviour_web_4

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกชอบออกคำสั่งให้เพื่อนทำแบบนี้สิ ทำแบบนั้นสิ คุณพ่อคุณแม่อาจลองถามว่า ลูกจะรู้สึกยังไงถ้าเพื่อนมาคอยสั่งลูกว่าต้องทำอะไรหรือห้ามทำอะไรตลอดเวลา

เมื่อลูกลองแทนว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่โดนสั่งให้ทำตามใจคนอื่นตลอดเวลา ย่อมเข้าใจได้ว่าเพื่อนหรือใครๆ ก็ไม่ชอบให้เขาทำอย่างนี้เช่นกัน

ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรขู่ให้ลูกกลัวว่าเพื่อนจะไม่รักหรือทำให้ลูกเป็นคนไม่มีเพื่อน แต่ให้อธิบายตามหลักความเป็นจริงว่า เพื่อนย่อมอยากเล่นกับคนที่อยู่ด้วยแล้วไม่ต้องโดนสั่งให้ทำอะไรตลอดเวลา เหมือนลูกก็ย่อมอยากเล่นกับคนที่อยู่ด้วยสบายใจมากกว่าเช่นกัน

อ้างอิง
verywellfamily
bonnieharris
teachearlyyears

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST