READING

น้ำนมแม่มาน้อย (แต่มานะ) : แชร์ประสบการณ์ของคุณแม่...

น้ำนมแม่มาน้อย (แต่มานะ) : แชร์ประสบการณ์ของคุณแม่น้ำนมน้อย แต่ให้ลูกได้จนถึง 2 ขวบ

น้ำนมแม่มาน้อย

คุณแม่ส่วนมากย่อมอยากให้ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็มีคุณแม่ไม่น้อยที่ต้องถอดใจเพราะปัญหาและอุปสรรคระหว่างทาง เช่น น้ำนมแม่ไม่มา หรือ น้ำนมแม่มาน้อย จนไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของลูกได้

เราเองก็เคยเป็นหนึ่งในคุณแม่มือใหม่ ที่ประสบปัญหา น้ำนมแม่มาน้อย เคยท้อแท้ ยอมแพ้และให้ลูกกินนมผง จนต้องมานั่งร้องไห้เพราะรู้สึกผิดต่อลูกมาก่อน แต่ด้วยแรงฮึดของตัวเองและแรงสนับสนุนของครอบครัว สุดท้ายเราก็ให้ลูกชายกินนมแม่ได้จนอายุ 2 ขวบเลยทีเดียว

จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่า มีเด็กไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต

พิชิตเส้นทางสายนมแม่ให้ได้ในช่วงสองสัปดาห์แรก

Breastfeeding_1

#เข้าเต้าหลังคลอดช่วยกระตุ้นน้ำนม หลังไม่นาน คุณพยาบาลจะอุ้มลูกมาสอนให้คุณแม่อุ้มเข้าเต้าและกินนมแม่ด้วยความทุลักทุเล และลูกก็พยายามออกแรงดูดจนเรารู้สึกได้ แต่ถึงอย่างนั้น น้ำนมก็ไม่ไหล จนคุณพยาบาลต้องคอยบอกว่า ไม่มีน้ำนมตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ถือว่าพาลูกมาดูดกระตุ้นน้ำนมให้คุณแม่ก็แล้วกัน

หลังจากพาลูกกลับไปแล้ว พยาบาลก็กลับมาอีกครั้งพร้อมเครื่องปั๊มนม เราปั๋มน้ำนมครั้งแรกได้เพียง 0.5 ml. แต่แค่นั้นเราก็ดีใจมาก แล้วพยาบาลก็รีบเอาน้ำนมสีเหลืองข้นที่ได้ไปให้ลูกทันที

#สี่ดูดกระตุ้นนมแม่ ก่อนกลับบ้านพยาบาลจะช่วยสอนการอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี และกำชับเทคนิคให้นมแม่จะเป็นไปด้วยดีต้องประกอบไปด้วย 3+1 ดูด คือ ลูกจะต้องดูดเร็วและแรง ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี และดูดเกลี้ยง

สัปดาห์แรกที่พาลูกกลับมาอยู่บ้าน สามีจะช่วยอุ้มลูกเข้าเต้า ด้วยการให้ตะแคงตัวลูกและประคองให้ลูกหันหน้าเข้าเต้า ให้ตำแหน่งริมฝีปากลูกตรงกับหัวนมของแม่ จนลูกสามารถใช้ลิ้นดุนเพื่อบีบน้ำนมให้ไหล แต่แม่น้ำนมน้อยมาก ลูกช่วยดูดจนหัวนมเปื่อยและแตก เพราะลูกดูดนานเกินไป ด้วยความสงสารและกลัวลูกจะกินไม่อิ่ม เราจึงตัดสินใจให้ลูกกินนมผงเสริมแต่ยังคงให้ลูกเข้าเต้าไปด้วยอย่างสม่ำเสมอ

ระหว่างนั้นตัวเองก็พยายามรักษาหัวนมที่เปื่อยด้วยการใช้น้ำนมตัวเองทาหัวนมบางๆ ทุกครั้งหลังจากลูกเข้าเต้า ไม่กี่วันอาการก็หายดี

#น้ำนมมาแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ น้ำนมก็เริ่มมามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงเตรียมนมผงไว้พร้อม เพราะเราไม่แน่ใจว่าน้ำนมตัวเองจะมากพอสำหรับลูกหรือยัง และถ้าวันไหนน้ำนมหมดแล้วแต่ลูกยังร้องไห้โยเย เราก็จะชงนมผงเสริมให้ลูกประมาณ 1 ออนซ์ แต่ส่วนมากลูกจะกินอิ่มจากเต้าและนอนต่อได้เลย เท่านี้ก็ถือเป็นความสำเร็จในการให้นมแม่ได้เลยทีเดียว

ปั๊มนมทุกสามชั่วโมง

Breastfeeding_2

จากการสังเกตพฤติกรรมการกินนมของลูกพบว่า ลูกต้องการกินนมมื้อละ 3 ออนซ์ เราปั๊มนมรวมกันทั้งสองข้างได้ประมาณ 2 ออนซ์ ก็เลยพยายามกระตุ้นน้ำนมด้วยการปั๊มนมทุกสามชั่วโมงให้เป็นกิจวัตร เสริมด้วยอาหารเรียกน้ำนม เช่น แกงเลียงและน้ำหัวปลี สุดท้ายก็ปั๊มนมตามปริมาณที่ต้องการได้

#เสริมนมผงได้ไม่ซีเรียส จากที่ตั้งใจว่า ถ้าแม่มีน้ำนมไม่พอให้ลูกกินอิ่ม ก็จะเสริมด้วยนมผงให้ลูกกินต่อ แต่สุดท้ายนมผงที่ซื้อไว้ก็ได้ใช้แค่ไม่กี่ครั้ง เพราะน้ำนมแม่เริ่มมากขึ้นจนได้ปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของลูก

#สต็อกนมน้อยแต่อร่อยนาน เราลาคลอดได้ 3 เดือน แต่ตั้งใจจะให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ก็เลยต้องทำการสต็อกน้ำนมเอาไว้ให้ลูกกินตอนกลางวันที่แม่ออกไปทำงาน

เราจะทำสต็อกล่วงหน้าแบบวันต่อวัน หรือไม่เกินสามวัน เพราะอยากให้ลูกได้กินนมแช่เย็นที่สดอร่อย และสังเกตได้ว่าน้ำนมแม่แช่เย็นก็ช่วยให้ลูกกินนมได้ดีขึ้นอีกด้วย

#ปั๊มนมในที่ทำงาน เพื่อไม่ให้น้ำนมขาดตอน เทคนิคคือไปปั๊มนมต่อที่ทำงาน วันละ 2 รอบ และยังคงแบ่งเวลาให้ลูกเข้าเต้าก่อนนอนและมื้อกลางดึก

อุปสรรคระหว่างทาง

Breastfeeding_3

#เต้านมอักเสบ สิ่งหนึ่งที่คุณแม่หลายคนพบเจอในช่วงเวลาให้นมลูกคืออาการ เต้านมคัดจนเป็นก้อนแข็ง มีอาการปวด บวม แดงบริเวณเต้านม ลูกเข้าเต้าแล้วก็ยังไม่หาย ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ให้วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมที่บวมแดงด้วยการประคบเย็นร้อน ตามด้วยการบีบน้ำนมด้วยมือ

#ประคบเย็นและร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบเต้าทั้งสองข้าง 10 นาที เพื่อช่วยให้หลอดเลือดและเซลล์ในเต้านมต่างๆ หดตัว ตามด้วย ‘ประคบอุ่นจัด’ โดยการเทน้ำเย็นทิ้ง เติมน้ำอุณหภูมิห้องสองแก้ว และเติมน้ำร้อนหนึ่งแก้ว ใช้ผ้าผืนเดิมชุบน้ำ พันรอบเต้านม เว้นบริเวณลานนมและหัวนม ซึ่งเป็นส่วนที่บอบเบา นานสองนาที หรือประคบอุ่นทีละข้าง ทำข้างซ้ายและขวา นับ 1 และทำซ้ำจนครบ 10 ครั้ง

#บีบน้ำนมด้วยมือแม่ ตามด้วย ‘บีบน้ำนม’ ที่เหลือด้วยเครื่องปั๊มนม เริ่มจากเปิดโหมดกระตุ้นเพียงสองนาที เพราะท่อน้ำนมจะปิดภายในเวลาสามนาทีครึ่ง หลังจากนั้นเปิดโหมดดูดแรงสูงสุดที่ไม่เจ็บ 15 – 20 นาที หรือใช้มือบีบก็จะช่วยให้สบายเต้านมได้มากขึ้น ด้วยการวางนิ้วเป็นรูปตัว C ห่างจากหัวนมขึ้นไป 3 เซนติเมตร ปลายนิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้วชี้อยู่ตรงกัน ดันนิ้วเข้าหาหน้าอก แล้วบีบปลายนิ้วเข้าหากัน น้ำนมก็จะพุ่งออกและก็ปล่อย ทำซ้ำจนรู้สึกว่าเต้านมโล่งสบาย และหากรู้สึกปวดเต้านมสามารถกินยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม 1 เม็ดได้ ไม่เป็นอันตราบต่อลูกที่กินนมแม่แต่อย่างใด

นมแม่ครั้งสุดท้าย

Breastfeeding_4

การปั๊มนมครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในคืนหนึ่งตอนที่ลูกอายุใกล้สองขวบ หลังจากลูกสามารถนอนเองได้โดยไม่ต้องเข้าเต้า เราเคยบอกลูกล่วงหน้าว่าวันหนึ่งนมน้ำของแม่จะหมดลง และลูกก็จะโตขึ้น ถึงวันนั้นลูกก็จะเลิกกินนมจากเต้า นี่คือการเตรียมตัวให้ลูกเลิกเต้าอย่างประนีประนอมที่สุดสำหรับเรา

เมื่อลูกอายุครบสองขวบ นมแม่ที่สต็อกไว้เหลือสองถุงสุดท้ายแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่สองถุงสุดท้ายนั้น เพราะเป็นน้ำนมที่ปั๊มเอาไว้นานเกิน 4 เดือนแล้ว

เราทิ้งนมสองถุงนั้นด้วยความรู้สึกขอบคุณในความอดทนของตัวเอง และขอบคุณความอดทนของลูกชายที่ยอมดูดเต้าแม่น้ำนมมาน้อยตั้งแต่แรก

ในฐานะแม่ที่เคยน้ำนมมาน้อย แต่ก็ยังมานะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนสามารถให้นมแม่ได้จนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่สายปั๊ม สายเข้าเต้า หรือคุณแม่สายกลาง ที่คิดว่าให้นมแม่ก็ได้ ให้นมผงก็ไม่เป็นไรอย่างเรา ขอเพียงคุณแม่มีความสุข ลูกมีความสุข ทุกคนมีความสุข ครอบครัวก็เป็นสุขอย่างแน่นอนค่ะ

 

7 วิธี เพิ่มน้ำนมแม่แบบสบายๆ ไม่เครียด
อ้างอิง
moph.go.th
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST