READING

ไม่อยากเลี้ยงลูก : ทำอย่างไร เมื่อรู้สึกหมดไฟในการ...

ไม่อยากเลี้ยงลูก : ทำอย่างไร เมื่อรู้สึกหมดไฟในการเป็นแม่ (Burned Out Mom)

ไม่อยากเลี้ยงลูก

ความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผลกระทบจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ความสุขส่วนตัวที่ไม่ต้องพูดถึง นี่ยังไม่นับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังคลอดที่คุณแม่ควบคุมไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณแม่หลายคนจะเกิดความรู้สึก ไม่อยากเลี้ยงลูก หรือ‘ภาวะหมดไฟในการเป็นแม่’ (Burned Out Mom)

ในปี 2017 มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology พบว่าคุณแม่เกือบ 13% ที่เกิดภาวะหมดไฟในการเลี้ยงลูก และจากการสำรวจ State of Motherhood ปี 2021 ของ Motherly พบว่า 93% ของคุณแม่ที่รู้สึกหมดไฟ สาเหตุมาจากความรู้สึกกดดันและการไม่เคยได้รับคำชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นในบทบาทแม่ ภรรยา หรือแม้แต่คนที่คอยจัดการทุกอย่างภายในบ้าน

ดังนั้น หากคุณแม่ที่กำลังรู้สึกหมดไฟ ได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ขอให้รู้ว่าคุณไม่ได้กำลังเผชิญหน้ากับภาวะนี้ตามลำพัง เพราะคุณแม่ทั่วโลกต่างก็เคยตกอยู่ในภาวะหมดไฟมาแล้วเช่นกัน

และเพื่อให้คุณแม่เข้าใจและรู้เท่าทันภาวะหมดไฟในการเลี้ยงลูก เราลองมาหาข้อมูลและพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองไปด้วยกันนะคะ

1. ภาวะหมดไฟของคุณแม่เกิดขึ้น เพราะคำว่า ‘มากเกินไป’

BurnedOutMom_web_1

Mary C. Kimmel ผู้อำนวยการร่วมของโปรแกรมจิตเวชปริกำเนิดแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาให้คำจำกัดความทางการแพทย์ของ Burned Out Mom ว่า เป็นความอ่อนล้าที่เกิดจากความเครียดที่มากเกินไป และเป็นเวลานานมากเกินไป จนคุณแม่เริ่มมีอาการทางอารมณ์ รู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนกับว่าความกดดันทั้งหมดเกิดขึ้นกับคุณแม่เท่านั้น ส่วนคุณพ่อกลับช่วยอะไรได้ไม่มากนัก

ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้คุณแม่ต้องเผชิญกับความเหนื่อยหน่ายไม่มีวันจบ และภาวะหมดไฟนั้นยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่ได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลกไดด้ระบุว่าคำว่า Burnoutไม่ใช่ความผิดปกติทางอารมณ์ แต่เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการมีภาระมากเกินไปและไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคม และไม่ได้เป็นเพียงคำศัพท์ทั่วไป แต่เป็นกลุ่มอาการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรัง

2. เช็กสัญญาณจุดเสี่ยงกับภาวะหมดไฟของคุณแม่

BurnedOutMom_web_2

หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าความเหนื่อยหน่ายจนเผลอนั่งร้องไห้ต่อหน้าลูกอยู่บ่อยๆ คือ ภาวะหมดไฟหรือเพียงแค่รู้สึกเหนื่อยชั่วคราว คุณแม่ลองทบทวนและพิจารณาพฤติกรรมของตัวเองสัก 2-3 วัน ว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่

#โลกของแม่ไม่สดใสเหมือนเคย เช่น ตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากทำอะไรเลย อยากอยู่คนเดียวมากขึ้น ไม่สนใจในสิ่งที่เคยอยากทำ รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น ไม่ค่อยอยากกินข้าว เริ่มนอนหลับยากมากขึ้น รู้สึกหงุดหงิดง่ายกว่าเดิม เหนื่อยหน่ายสิ่งที่ทำอยู่ในทุกๆ วัน รอยยิ้มของคุณแม่หายไป รู้สึกว่าทำความสุขหล่นหาย สัญญาณทางอารมณ์ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ และทำให้ร่างกายทรุดโทรม นี่คือสัญญาณอันตรายภาวะหมดไฟที่กำลังจะปะทุอย่างจริงจังแล้วล่ะค่ะ

#รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ #รู้สึกผิดตลอดเวลา ความกดดันและความคาดหวังทั้งจากตัวเองและคนอื่น อาจเป็นเหตุให้คุณแม่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ กลัวว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ลูกพัฒนาการช้า ไม่เชื่อฟัง หรือลูกไม่แข็งแรง ยิ่งเวลาลูกไม่สบายก็มักโทษตัวเองว่าดูแลลูกไม่ดีพอ

ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคนได้ และจะหายไปเมื่อคุณแม่ได้รับการพักผ่อนให้หายเหนื่อย และคำชื่นชมที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่ไม่เคยรู้สึกภาคภูมิใจในการเลี้ยงลูกของตัวเองละก็  นี่คืออีกหนึ่งอาการของคุณแม่ที่กำลังจะหมดไฟนั่นเอง

#อยากลาออกจากการเป็นแม่ หากคุณแม่เคยทำงานบริษัทแล้วมีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนงานด้วยเหตุผลความเหนื่อยล้าและกดดันมากเกินไป แล้วความรู้สึกแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับงานเลี้ยงลูก ที่ไม่สามารถลาออกหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้จะพอมีเวลาพัก แต่เมื่อกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง ก็ยังนึกถึงการลาออกจากหน้าที่และบทบาทของคุณแม่ นี่ก็เป็นสัญญาณเตือนของภาวะได้เช่นกัน

#มีปฏิสัมพันธ์เชิงลบกับลูกมากขึ้น ภาวะหมดไฟมักจะทำให้คุณแม่มุ่งมองหาแต่ ‘พฤติกรรมด้านลบ’ ของลูก แล้วก็จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้น ด้วยการสอนเชิงลบ เช่น ต่อว่า ตำหนิ และทำโทษรุนแรงและยิ่งพยายามแก้พฤติกรรมไม่ดีของลูกมากเท่าไหร่ คุณแม่ก็จะยิ่งรู้สึกเหนื่อยหน่าย และไม่มีความสุขมากเท่านั้น นี่ก็เป็นอาการหนึ่งของคุณแม่หมดไฟเลยล่ะค่ะ

3. หมดไฟแล้วจริงๆ ทำยังไงดี

BurnedOutMom_web_3

Katayune Khaoni นักจิตวิทยาด้านเวชปฏิบัติส่วนตัวที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตปริกำเนิด ให้คำแนะนำบรรเทาภาวะหมดไฟได้ด้วยวิธีง่ายๆ เบื้องต้น คือ การแบ่งเวลาให้กับการดูแลตัวเองเป็นประจำ เช่น การทำเล็บ การแช่น้ำ หรือการอาบน้ำฟองสบู่ ทาโลชั่นและดูแลผิวพรรณตัวเองหลังอาบน้ำ นี่ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่สิ่งเล็กๆ นี้จะเยียวยาจิตใจของคุณแม่ให้อยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างมีความสุขได้

#ขอความช่วยเหลือจากครอบครัว เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่รู้สึกว่า ทุกอย่างอยู่บนบ่าของตัวเอง เมื่อนั้นความเครียดก็จะก่อตัวขึ้น ดังนั้นคุณแม่ต้องขอแรงจากคุณพ่อ หรือคนอื่นๆ ในครอบครัวบ้าง เพื่อให้ตัวเองได้มีเวลาฟื้นฟูพลังงานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้กลับมาคงที่อีกครั้ง

#พูดออกมา คุณแม่ควรมีใครสักคนที่ไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือกลุ่มคุณแม่ที่เข้าอกเข้าใจ เพื่อระบายความรู้สึกที่อดอั้น ลองหาเวลาพบปะกับคนอื่นหรือกลุ่มเพื่อนสนิทสัปดาห์ละครั้ง หรือลองวางแผนไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนที่เป็นคุณแม่เหมือนกันสักครั้ง แล้วคุณแม่จะรู้ว่า ทุกสิ่งที่คุณแม่เผชิญหน้าอยู่นั้นอาจเป็นเรื่องที่คุณแม่ทุกคนกำลังเผชิญหรือเคยผ่านมันมาก่อน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้บรรเทาความเหนื่อยล้าและความเครียดลงได้

#หยุดพักแล้วทำเพื่อตัวเองบ้าง นักจิตวิทยาระบุว่า มนุษย์ล้วนต้องการการหยุดพัก สรีรวิทยาของร่างกาย จิตใจและอารมณ์ของคนเราก็ต้องการเวลาหยุดทำงานเช่นกัน ดังนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาทุกวินาทีให้กับลูก แม้แต่ตอนที่ลูกหลับ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานั้นลุกไปทำงานอื่นด้วยความรีบร้อน ลองใช้เวลาพักผ่อนไปพร้อมกับลูกก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย

#ปรึกษาจิตแพทย์ ท้ายสุดแล้ว คุณแม่ยังรู้สึกเหนื่อยหน่าย ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเลี้ยงลูก และอยู่กับความรู้สึกนั้นนานเกินสองสัปดาห์ ก็ถึงเวลาที่คุณแม่จะต้องขอความช่วยเหลือจากนักบำบัดหรือจิตแพทย์บ้างแล้วล่ะค่ะ

4. ภาวะหมดไฟ หรือหมดใจชั่วคราวกันแน่

BurnedOutMom_web_4

จากการสำรวจสถานะความเป็นแม่ในปี 2018 ของ Motherly พบว่าเกือบ 60% ของคุณแม่ยุคมิลเลนเนียล รู้สึกว่าความเป็นแม่คือ สิ่งที่กำหนดตัวตนของผู้หญิงมากที่สุด แต่เมื่อทำแบบสำรวจเดิมอีกครั้งในปี 2019 พบว่า 67% ของคุณแม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี รู้สึกว่าผู้เป็นแม่สามารถกำหนดความเป็นแม่ในแบบฉบับของตัวเองได้ ในขณะที่คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปีกว่า 62% ยังรู้สึกเหมือนว่า สังคมและวัฒนธรรมยังคงตีกรอบความเป็นแม่ไว้เหมือนเดิม

ตัวเลขเหล่าแสดงให้เห็นว่า ภาวะหมดไฟ อาจเกิดมาจากการหมดใจชั่วคราวได้ เพราะความเป็นแม่ของแต่ละคน ถูกกำหนดไว้แตกต่างกันไปตามบริบทของครอบครัว สังคมและวัฒนธรรม

โดยเฉพาะความเป็นแม่ ที่มาพร้อมกับหน้าที่แม่บ้าน ที่ต้องแบกรับทั้งงานบ้านและงานเลี้ยงลูก มีผลการสำรวจของ Motherly ในปี 2019 พบว่า 61% ของคุณแม่ต้องการให้คุณพ่อเข้ามาช่วยเหลือและแบ่งเบาหน้าที่งานบ้านบ้าง และแบบสำรวจเดิมก็ชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว คุณพ่อก็อยากช่วย เพียงแค่รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเท่าคุณแม่ อีกส่วนก็รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะหมดไฟที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ คุณพ่อสามารถใช้เวลาหลังเลิกงาน หรือวันหยุดรับบทเป็นตัวแทนคุณแม่ ช่วยดูแลลูก ช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เท่านี้ก็พอจะช่วยฉุดและพยุงจิตใจที่เหนื่อยล้า บอบช้ำ และหมดไฟของคุณแม่ให้กลับคืนมาได้

อ้างอิง
mother.ly/health-wellness
mother
parents
choosingtherapy

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST